วันที่ 27 พ.ย. 67 นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามโครงการปรับปรุงอาคารป้องกันการกัดเซาะตลิ่งบริเวณด้านหน้าฝายนาทราย ตำบลทุ่งปี๊ อำเภอแม่วาง จ.เชียงใหม่และโครงการปรับปรุงอาคารป้องกันการกัดเซาะตลิ่งลำน้ำวาง ตำบลบ้านกาด อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายฐนันดร์ สุทธิพิศาล รองอธิบดีกรมชลประทาน และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และรายงานสรุปการดำเนินโครงการ
นายฐนันดร์ สุทธิพิศาล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า หลังจากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลากในลำน้ำวาง จนทำให้บ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง ฝนที่ตกหนักยังส่งผลให้ตลิ่งในหลายพื้นที่ถูกกัดเซาะอย่างรุนแรง โดยเฉพาะบริเวณด้านหน้าฝายนาทรายฝั่งขวา ในเขตตำบลทุ่งปี๊ และบริเวณเลียบคันลำน้ำวางในเขตตำบลบ้านกาด หากไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน อาจทำให้สถานการณ์ความเสียหายรุนแรงขึ้น
กรมชลประทานจึงได้เริ่มดำเนินโครงการปรับปรุงอาคารป้องกันการกัดเซาะตลิ่งใน 2 จุดสำคัญ ได้แก่ บริเวณด้านหน้าฝายนาทราย และบริเวณเลียบคันลำน้ำวาง เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขตอำเภอแม่วางและพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมทางด้านวิศวกรรม เพื่อสำรวจ ออกแบบ และขอรับการสนับสนุนงบประมาณสำหรับดำเนินการ
นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้วางแผนดำเนินโครงการสำคัญ คือ การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่วาง ที่มีความจุเก็บกักน้ำ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้แก่ประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่อำเภอแม่วาง อำเภอสันป่าตอง และอำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ โดยอ่างเก็บน้ำแห่งนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง และลดความเสี่ยงจากปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูฝนอย่างยั่งยืน ซึ่งขณะนี้รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ (คชก.)
ด้านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมชลประทานเร่งดำเนินโครงการปรับปรุงอาคารป้องกันการกัดเซาะตลิ่งทั้ง 2 โครงการตามแผนที่วางไว้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนชาวแม่วาง พร้อมมอบหมายให้กรมชลประทานและกรมพัฒนาที่ดิน บูรณาการร่วมกัน สำรวจพื้นที่แหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มเติม เพื่อดำเนินการสร้างฝายชะลอน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำของเกษตรกรในพื้นที่ได้มีน้ำต้นทุนที่เพิ่มขึ้น