วันที่ 11 พ.ย. 67) ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (swoc) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
ปัจจุบัน (11 พ.ย. 67) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 63,606 ล้าน ลบ.ม. ( 83% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) มีปริมาณน้ำใช้การ 39,663 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 21,933 ล้าน ลบ.ม. (88% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) มีปริมาณน้ำใช้การ 15,237 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่า พื้นที่ตอนบนของประเทศบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งภาคกลาง ปริมาณฝนจะเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ที่ประชุมได้กำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ ให้วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด ส่วนในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ขณะนี้ได้เริ่มเข้าสู่ฤดูการส่งน้ำในช่วงฤดูแล้งแล้ว(เริ่ม 1 พ.ย. 67 – 30 เม.ย. 68) จึงขอให้เกษตรกรร่วมมือกันใช้น้ำตามแผนที่วางไว้ เพื่อลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต และเน้นย้ำให้ปฏิบัติตามาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2567/68 ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบ ด้วยการคาดการณ์และป้องกันพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ วางแผนจัดสรรน้ำและกำหนดพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง พร้อมบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญ การใช้น้ำตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเพื่อลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วน รวมไปถึงการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำตลอดในช่วงฤดูแล้ง เสริมความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำให้ชุมชน ตลอดจนประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง
สำหรับในพื้นที่ภาคใต้ที่เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน คาดว่าจะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทานได้กำชับให้ทุกโครงการชลประทานในภาคใต้ ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ที่สำคัญให้หมั่นตรวจสอบอาคารชลประทานและระบบการระบายน้ำ ให้ใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ตลอดจนเตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ เครื่องจักร เครื่องมือ เข้าไปประจำจุดเสี่ยง เพื่อให้สามารถเข้าไปแก้ไขสถานการณ์น้ำได้อย่างทันท่วงที หมั่นตรวจสอบและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ตามนโยบายของรัฐบาลและ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์