วันที่ 22 กรกฎาคม 2565 ที่กรมชลประทาน ถนนสามเสน กรุงเทพมหานคร นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ พร้อมด้วย นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการและผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.) ครั้งที่ 16/2565 ผ่านทางระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุม เพื่อนำเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้ จังหวัดขอนแก่น
สำหรับ “โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้” ตั้งอยู่ที่หมู่ 10 บ้านโนนสวรรค์ ตำบลเมืองเก่าพัฒนา และหมู่ที่ 3 บ้านโพธ์ ตำบลในเมือง อำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น เขื่อนดินความจุ 12.78 ล้าน ลบ.ม. แผนงานก่อสร้าง 4 ปี เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค และสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูก โดยส่งน้ำในฤดูฝนได้ 13,500 ไร่ และฤดูแล้ง 5,200 ไร่ ให้กับราษฎรในพื้นที่อำเภอเวียงเก่าใน 3 ตำบล รวม 19 หมู่บ้าน พื้นที่รับประโยชน์รวม 17,900 ไร่ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่โครงการฯ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ทั้งนี้เนื่องจาก โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้ มีพื้นที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม 470 ไร่ จึงเข้าข่ายประเภทและโครงการที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554
โดยที่ประชุม คชก. ได้มีข้อคิดเห็นให้เพิ่มข้อมูลในประเด็นต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงรายงานให้ครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อให้การดำเนินโครงการฯ เป็นไปอย่างเหมาะสม ครอบคลุมการศึกษาผลกระทบฯ ในทุกมิติ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
อธิบดีกรมชลฯลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ จ.สมุทรปราการ เตรียมพร้อมรับน้ำหลาก
เมื่อวานนี้ ( 21 ก.ค. ) นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีฝ่ายบริหาร นายชุติมันต์ สกุลพราหมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 นายสมเดช ศรีวิเชียร ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร พร้อมผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการเร่งระบายน้ำของสถานีสูบน้ำชลหารพิจิตร ณ ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมชลประทาน โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร ได้เตรียมพร้อมแผนเผชิญเหตุพร้อมรับสถานการณ์น้ำหลาก ในกรณีปริมาณน้ำฝนและน้ำเหนือไหลมาสมทบกัน จนระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง จะทำการพร่องน้ำในคลองชายทะเล โดยใช้สถานีสูบน้ำที่ตั้งอยู่ริมคลองชายทะเล เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล พร้อมควบคุมระดับน้ำภายในคลองให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด
รวมทั้งใช้อาคารชลประทาน บริหารจัดการน้ำไม่ให้หลากเข้าไปในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการเฝ้าระวังระดับน้ำในคลองแสนแสบ คลองประเวศน์บุรีรมย์ และคลองสำโรง หากมีระดับน้ำสูงกว่าระดับเฝ้าระวัง จะประสานไปยังสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อระบายน้ำออกทางแนวคันกั้นน้ำด้านตะวันออกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนระบายลงสู่อ่าวไทยตามลำดับ นอกจากนี้ ยังใช้สถานีสูบน้ำหลักริมคลองชายทะเลทั้ง 9 แห่ง ที่มีอัตราระบายน้ำรวมกันประมาณ 227 ลบ.ม/วินาที หรือประมาณ 19 ล้าน ลบ.ม./วัน เร่งระบายน้ำลงสู่อ่าวไทย
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่เพิ่มเติม จากสถานีสูบน้ำเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำออกสู่ทะเลได้มากและเร็วขึ้น เป็นการเตรียมพร้อมรับมือน้ำหลากที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนนี้ เป็นการป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวสมุทรปราการให้มากที่สุด