กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าบริหารจัดการน้ำเหนือ เร่งรัดการระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยพร้อมวางมาตรการแนวทางการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

3039774 0

นายเอกภาพ พลซื่อ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (9 ต.ค.67) ว่า ขณะนี้ปริมาณฝนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ลดน้อยลงแล้ว ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำปิงที่สถานีวัดน้ำ P.1 (สะพานนวรัฐ) อำเภอเมืองเชียงใหม่ ลดต่ำกว่าตลิ่งแล้วประมาณ 93 เซนติเมตร แนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่ม คาดการณ์ว่าภายใน 1-2 วัน สถานการณ์น้ำท่วมขังในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ จะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนพื้นที่รอบนอกคาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 2 สัปดาห์ เช่นเดียวกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดลำพูน ล่าสุดระดับในแม่น้ำปิงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการชลประทานลำพูน ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น เร่งบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ด้วยการนำเครื่องสูบน้ำเข้าไปติดตั้งตามประตูระบายน้ำ (ปตร.) ต่าง ๆ ในตัวเมืองลำพูน อาทิ ปตร.ปิงห่าง ปตร.ร่องกาศ ปตร.ปลายเหมือง ฝายชลขันธ์พินิจ (แม่ปิงเก่า) และ ปตร.ล้องพระปวน พร้อมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่ ปตร.สบทา เพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่ลงสู่แม่น้ำปิงให้เร็วที่สุด เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยทั้งในพื้นที่ จ.เชียงใหม่และลำพูน หากไม่มีฝนตกหนักและไม่มีน้ำจากพื้นที่ตอนบนไหลลงมาเพิ่ม คาดว่าภายใน 1 สัปดาห์ สถานการณ์น้ำท่วมเมืองลำพูนจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

ภาพชป3

ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันยังคงมีปริมาณน้ำสะสมจากทางตอนบนไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างอย่างต่อเนื่อง ทำให้วันนี้ (9 ต.ค. 67) ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 2,318 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลง แต่ยังคงทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยายกตัวสูงขึ้น กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ตามศักยภาพของคลองและสอดคล้องกับปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ พร้อมคงการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาต่อเนื่องอยู่ในอัตรา 2,199 ลบ.ม./วินาที เพื่อลดผลกระทบพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนให้มากที่สุด ซึ่งการระบายน้ำในอัตราดังกล่าวติดต่อกันมา 4 วันแล้ว ทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาทรงตัว ในขณะที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ที่สถานีวัดน้ำ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 1,791 ลบ.ม/วินาที ไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แต่อาจจะมีผลกระทบกับประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำหรือในพื้นที่ที่มีระดับตลิ่งต่ำ ในช่วงที่มีน้ำทะเลหนุนสูง

ภาพชป2

ทางด้านเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ได้วางแผนปรับลดการระบายน้ำลงอย่างต่อเนื่อง จนเหลือในอัตรา 10 ลบ.ม./วินาที ภายในวันพรุ่งนี้ (10 ต.ค.67) เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงไปสมทบกับแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ทางตอนล่างของลุ่มเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยจะเก็บกักน้ำไว้ในอ่างฯในช่วงปลายฤดูฝนเดือนสุดท้ายให้ได้มากที่สุดต่อไป

ภาพชป1
default

สถานการณ์น้ำฝน-น้ำท่า ปัจจุบันวันที่ (9 ต.ค. 67) ปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาสถานี C.2 นครสวรรค์ที่ 2,326 ลบ.ม./วินาที สมทบกับปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำสะแกกรัง ct.19 อุทัยธานี 41 ลบ.ม./วินาที ระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่อัตรา 2,199 ลบ.ม./วิ ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ +16.40 ม.รทก. ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำฝน-น้ำท่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน จึงได้ขอให้โครงการฯ ปรับลดปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในวันที่ 10 ตุลาคม 2567 ทยอยจากอัตรา 2,199 ลบ.ม/วินาที เหลืออัตรา 2,150 ลบ.ม/วินาที และคงอัตราต่อเนื่อง พร้อมทั้งสร้างการรับและประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนรับทราบถึงสถานการณ์น้ำ
สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนต่าง ๆ ปัจจุบัน (9 ต.ค. 67) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 60,444 ล้าน ลบ.ม. (79% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 15,924 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 20,017 ล้าน ลบ.ม. (80% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) พร้อมทั้งสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 4,854 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ขอยืนยันว่าน้ำจะไม่ท่วมพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แต่อาจจะมีผลกระทบกับประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำ หรือในพื้นที่ที่มีระดับตลิ่งต่ำ ในช่วงที่มีน้ำทะเลหนุนสูง อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ พร้อมปรับแผนการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ให้สอดคล้องกับน้ำเหนือและฝนตกในพื้นที่ต่อไป นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการดำเนินงานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนระยะเร่งด่วน 3 มาตรการ ได้แก่ 1) การฟื้นฟูอาชีพหลังน้ำลด 6 โครงการ 2) การปรับพื้นที่และฟื้นฟูพื้นที่เกษตร 2 โครงการ และ 3) มาตรการลดภารหนี้สินให้สมาชิกสถาบันเกษตรกร 2 โครงการ อีกทั้ง กระทรวงเกษตรฯ ได้กำชับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานเร่งรัดเพื่อช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบอุทกภัย พร้อมปรับเกณฑ์ย่นระยะเวลาในการช่วยเหลือ จาก 90 วัน ให้เหลือ 65 วัน อีกด้วย