กรมพัฒนาที่ดิน แนะมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ ปกป้องดิน ฟื้นฟูพื้นที่การเกษตร บรรเทาอุทกภัย

ภาพพด0

ดร.อาทิตย์ ศุขเกษม รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน และโฆษกกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า สถานการณ์อุทกภัย หรือน้ำท่วม ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคการเกษตร โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ส่วนหนึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก (Climate Change) การทำลายป่าไม้ การขยายตัวของเมืองและพื้นที่เกษตรกรรมเข้าไปในพื้นที่ลุ่มต่ำและขวางทางไหลของน้ำ การใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างไม่เหมาะสม ส่งผลให้พื้นที่ได้รับผลกระทบจากการชะล้างพังทลายของดิน จากสถานการณ์ฝนตกหนักสะสมในช่วงเดือนสิงหาคม 2567 ส่งผลให้น้ำป่าไหลหลาก พื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหายเกิดการทับถมของตะกอนดิน ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ไม่สามารถทำการเพาะปลูกพืชได้ เพื่อฟื้นฟูดินและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร กรมพัฒนาที่ดิน มีแนวทางแนะนำวิธีการรับมือกับอุทกภัยในพื้นที่การเกษตร ด้วยมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำของกรมพัฒนาที่ดินหลายรูปแบบ ดังนี้ 1) การปรับที่นาใหม่ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการสะสมของตะกอนดินต้องปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อเพิ่มความสามารถในการอุ้มน้ำของดิน โดยการเพิ่มอินทรียวัตถุในดินผ่านการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และปุ๋ยพืชสด ช่วยให้ดินดูดซับน้ำฝนได้มากขึ้น ลดปริมาณน้ำไหลบ่าหน้าดิน 2) การทำคันดินเบนน้ำ เพื่อชะลอและกระจายน้ำไหลบ่าให้ซึมลงดิน ลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่พื้นที่ลุ่มต่ำ 3) การทำขั้นบันไดดิน เพื่อลดความรุนแรงของน้ำไหลบ่า 4) การสร้างฝายชะลอน้ำ ในพื้นที่ต้นน้ำ เพื่อชะลอการไหลของน้ำ ลดความรุนแรงของน้ำหลาก และเพิ่มการกักเก็บน้ำในดิน 5) การปลูกหญ้าแฝก เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ชะลอความเร็วของน้ำไหลบ่า และเพิ่มการซึมน้ำลงดิน 6) การไถกลบตอซัง ที่ถูกน้ำท่วมตาย ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ปรับปรุงโครงสร้างดินให้ร่วนซุย ทำให้น้ำซึมผ่านได้ดีขึ้น 7) การขุดสระน้ำในไร่นา เพื่อกักเก็บน้ำฝนส่วนเกินไว้ใช้ในฤดูแล้ง และช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่พื้นที่ลุ่มต่ำ และ 8) การปรับรูปแปลงนา ให้มีคันนาที่กว้างและสูงขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการกักเก็บน้ำในแปลงนา

ภาพพด2

ทั้งนี้ เกษตรกรควรติดตามสถานการณ์สภาพอากาศเป็นประจำ และนำมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำไปใช้ในพื้นที่การเกษตรอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง นอกจากจะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัย ยังช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และสร้างความยั่งยืนให้กับระบบนิเวศเกษตรในระยะยาว สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ หรือโทร. 1760

ภาพพด3
ภาพพด4
ภาพพด5
ภาพพด6
ภาพพด7
ภาพพด10