วันที่ 6 สิงหาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีน้ำเขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก ทะลักเมื่อช่วงกลางดึกคืนวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ไหลท่วมรีสอร์ต และบ้านเรือนประชาชนได้ความเสียหาย และถูกมองว่าเป็นการปล่อยน้ำจากเขื่อนขุนด่านฯ ว่า การที่สื่อ จะนำเสนอข่าวอะไรก็ตามเรื่องหลักวิชาการเป็นสิ่งสำคัญ ขอเรียนว่าปริมาณน้ำจากเขื่อนปกติระบายวันละ 3,000,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อหล่อเลี้ยงระบบนิเวศและลำน้ำสาขาจากปลายเขื่อน แต่วันที่เกิดเหตุฝนตกหนัก ปริมาณการระบายน้ำก็ยังเหมือนเดิม ไม่ได้ระบายมากกว่าเดิม แต่ท้ายเขื่อนมีลำน้ำสาขา เช่น น้ำตกสาริกา น้ำตกนางรอง คลองลำน้ำสาขา ปริมาณฝนตกมารวมกันท้ายเขื่อน ทำให้เวลาหลังเที่ยงคืนของวันที่ 4 ส.ค. และคืนวันที่ 5 ส.ค. ตัวเลขปริมาณน้ำที่นำเสนอผ่านสื่อฯกลายเป็น 300-400 ล้านลูกบาศก์เมตร นั่นคือปริมาณลำน้ำสาขาที่มารวมกัน จึงทำให้ปริมาณน้ำมากกว่าเดิม ทำให้เข้าใจว่าเป็นการระบายน้ำออกจากเขื่อน ซึ่งข้อเท็จจริงมันไม่ใช่ เรายังระบายเท่าเดิมหลังจากมีปริมาณน้ำเยอะได้ปิดประตูน้ำทันที
“หลายคนบอกว่าผมกระโดดเข้ามาป้องกันลูกน้อง ไม่ใช่ แต่เป็นไปตามหลักวิชาการในการบริหารจัดการน้ำ น้ำคือน้ำหลาก ทำให้ท่วมฉับพลันมาไวไปไวแต่สร้างความเสียหาย สิ่งเหล่านี้การบริหารจัดการน้ำ เราไม่ได้นิ่งนอนใจ ซึ่งจะต้องมีการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อไม่ให้น้ำเวลาฝนตกหนักไหลมารวมกันที่เดียว ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ ขอยืนยันว่าน้ำท่วมที่จังหวัดนครนายกเกิดจากปริมาณฝนตกและน้ำมารวมกันอยู่ที่ปลายลำน้ำสาขา จึงทำให้ดูว่าปริมาณน้ำเยอะ” ร.อ.ธรรมนัส กล่าว
ร.อ.ธรรมนัส รมว.เกษตรฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ขอให้เข้าใจการบริหารจัดการน้ำแต่ละเขื่อน เราต้องบริหารรักษาระบบนิเวศเป็นเรื่องสำคัญ ยืนยันว่าคืนที่ฝนตกหนัก เมื่อทราบรายงานก็รีบปิดประตูน้ำทันที เรื่องนี้สำคัญ แล้วถ้าปิดแล้วไม่ระบายเลยก็จะมีปัญหาอีกจะต้องสร้างสมดุล เมื่อฝนตกหนักช่วงกลางดึก สิ่งสำคัญคือประชาชนในพื้นที่ ยอมรับว่าเรื่องการประชาสัมพันธ์อาจจะไม่เข้าถึงประชาชนในพื้นที่
เมื่อถามถึงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบท้ายเขื่อนจากกรณีดังกล่าว ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า วันที่ 7 ส.ค. จะลงพื้นที่ในช่วงบ่าย