จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม.67 เกิดเหตุการณ์ทำนบด้านข้างอาคารระบายน้ำล้นของอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำ จังหวัดมหาสารคาม เสียหายทำให้ทำนบดินตัวเขื่อนเกิดช่องขาด หลังมีฝนตกหนัก ส่งผลกระทบให้ปริมาณน้ำกัดเซาะทำนบดินได้รับความเสียหาย ทำให้ปริมาณน้ำได้ไหลทะลักไปยังพื้นที่ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำนั้น
สำหรับรายละเอียดเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 15 ก.ค.2567 มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำ 2.727 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 53.83 % เนื่องจากฝนตกในพื้นที่วัดได้ 145.50 มิลลิเมตร(มม.) มีน้ำไหลลงอ่างฯประมาณ 3.063 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ทำให้มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกว่า 5.79 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 114.29% ของความจุอ่างฯ
ต่อมาในวันที่ 16 ก.ค. 67ระดับน้ำในอ่างฯได้เอ่อล้นทำนบชั่วคราวไหลลงช่องอาคารระบายน้ำล้นเกิดการกัดเซาะอาคารและทำนบดินเสียหายขาดเป็นความยาวประมาณ 50 เมตร จนทำให้พื้นที่ได้รับผลกระทบด้านท้าย ประมาณ 3,000 ไร่
สำหรับ อ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำ ต.โนนราษี อ.บรบือ จ.มหาสารคาม เริ่มก่อสร้างปี พ.ศ.2496 แล้วเสร็จ พ.ศ.2499 ได้ใช้งานมาแล้วประมาณ 68 ปี ตัวเขื่อนสูง 8 เมตร ยาว 1,000 เมตร ความจุ 5.07 ล้าน ลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเฉลี่ย 24.2 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ต่อปี (ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯมากกว่าความจุเก็บกักประมาณ 5 เท่า ทำให้เขื่อนมีความเสี่ยงที่น้ำจะไหลล้นข้ามสันเขื่อน หากมีฝนตกมากผิดปกติ) โดยมีอาคารระบายน้ำล้น(Spillway) สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 24.2 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ล่าสุดสถานการณ์น้ำปัจจุบันระดับน้ำอยู่ต่ำกว่าระดับกัดเซาะ โดยทางหน่วยงานของกรมชลประทานจะเร่งดำเนินการก่อสร้างทำนบดินชั่วคราวเหนือช่องขาด เพื่อปิดกั้นช่องขาดพร้อมทั้งเสริมความแข็งแรงด้วยกล่อง gabion บรรจุหินใหญ่ เพื่อ ป้องกันน้ำไหลผ่านและให้สามารถเก็บกักน้ำได้ ระยะเวลาดำเนินการ 1-2 วัน คาดว่าการก่อสร้างตัวเขื่อนจะแล้วเสร็จ กลับคืนสู่สภาพเดิม นอกจากนี้ยังดำเนินการก่อสร้างทางระบายน้ำล้นชั่วคราว เพื่อช่วยระบายในช่วงน้ำหลาก
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนนั้นกรมชลประทานได้นำเครื่องจักร เครื่องมือลงพื้นที่ เข้าไปกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำลงลำน้ำเสียวใหญ่เป็นการลดผลกระทบจากน้ำไหลลงสู่พื้นที่ท้ายอ่างฯของประชาชนให้รวดเร็ว คาดว่าสามารถระบายน้ำได้ภายใน 5 วัน จะกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งกรมชลประทานจะติดตามและควบคุมสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
ขณะที่แนวโน้มฝนในช่วงที่ผ่านมา อ.บรบือ ที่สถานี อบต.โนนแดง ล่าสุดฝนตกวัดได้ 7.6 มม. ซึ่งถือว่ามีปริมาณที่ลดลง ทำให้เจ้าหน้าที่ได้เร่งวางแผนการช่วยเหลือประชาชนโดยจะจัดเรือพร้อมทีมช่วยเหลือเข้าพื้นที่ชุมชนเป้าหมาย
ด้านโครงการชลประทานมหาสารคาม รายงานสถานการณ์น้ำของอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำ ที่เกิดการกัดเซาะอาคาระบายน้ำล้นจนเป็นเหตุให้ทำนบดินพังเมื่อเวลา 17:00 น.ของวันที่ 16 ก.ค.2567 รายละเอียด ดังนี้
1.อ่างฯห้วยเชียงคำความจุ 5.08 ล้าน ลบ.ม.ในวันที่ 15 ก.ค.2567 ความจุ 2.727 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 53.83% เนื่องจากฝนตกในพื้นที่วัดได้ 145.50 มม. น้ำไหลลงอ่างฯมีปริมาณเพิ่ม 3.063 ล้าน ลบ.ม.ปริมาณน้ำในอ่างฯ 5.79 ล้าน ลบ.คิดเป็น 114.29%
2.อาคารระบายน้ำล้นของอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำ ถูกกีดเซาะเป็นเหตุทำนบดินของอ่างฯขาดความยาวประมาณ 50 เมตร
3.พื้นที่ได้รับผลกระทบด้านท้าย ประมาณ 3,000 ไร่
4.โครงการชลประทานมหาสารคามได้ดำเนินการใช้เครื่องจักร เครื่องมือ ระดม วัสดุหินใหญ่ ปิดกั้นน้ำทั้งสองฝั่งของทำนบดินไม่ให้พังเสียขยายเพิ่ม
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ เพื่อเป็นการสร้างความปลอดภัยให้แก่ตัวอ่างเก็บน้ำที่ใช้งานมานาน กรมชลประทานจึงได้ออกแบบปรับปรุงอาคารระบายน้ำล้นจากเดิมที่ระบายได้ 24.2 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือ 2.09 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน เป็นระบายได้ 54.00 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือ 4.06 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน โดยได้รับงบประมาณมาดำเนินการในปี 2567 ซึ่งระหว่างดำเนินการ แต่ได้เกิดเหตุการณ์ขึ้นเสียก่อน
สถานการณ์ปัจจุบันระดับน้ำอยู่ต่ำกว่าระดับกัดเซาะ ซึ่งเป็นระดับที่สามารถเข้าดำเนินการปิดทำนบดินที่ขาดได้ โดยโครงการชลประทานมหาสารคามร่วมกับสำนักงานชลประทานที่ 6 ได้วางแผน ปิดกั้นทำนบดินโดยจะดำเนินการตอกผนังกันน้ำ ลงกล่องบรรจุหินเพื่อให้เกิดความแข็งแรง ปิดทางน้ำและเปิดระบายทางน้ำแห่งใหม่เพื่อรองรับปริมาณฝนที่อาจตกลงมาเพิ่ม โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันนี้ (17 ก.ค.2567)
คาดว่าพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมจะคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 5 วัน ซึ่งโครงการชลประทานมหาสารคามจะควบคุมและเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมงหากมีความคืบหน้าจะรายงานให้ทราบอีกครั้ง