กรมชลฯ กำชับรับมือตามมาตรการฤดูฝนอย่างเคร่งครัด ควบคู่บริหารจัดการน้ำฤดูฝนให้เป็นไปตามแผน

ภาพชป

นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (4 ก.ค. 67) ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 37,847 ล้าน ลบ.ม.  (50% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) สามารถรับน้ำได้อีก 38,490 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4  เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 9,566 ล้าน ลบ.ม. (38% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) สามารถรับน้ำได้อีก 15,305 ล้าน ลบ.ม. จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำช่วงฤดูฝนปี 2566/67 ทั้งประเทศไปแล้วกว่า 7,450 ล้าน ลบ.ม. (49% จากแผนฯ) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 2,810 ล้าน ลบ.ม. (57% จากแผนฯ) ภาพรวมสถานการณ์น้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้

         

กรมชลประทาน จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศให้ปฏิบัติตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 67 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด พร้อมเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง นำข้อมูลมาวิเคราะห์วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์และอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ควบคู่ไปกับการเก็บกัก รวมทั้งตรวจสอบอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ มีการกำหนดคน กำหนดพื้นที่เสี่ยง กำหนดเครื่องจักรเครื่องมือและระบบสื่อสารประจำพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเข้าแก้ไขสถานการณ์ได้ทันที ที่สำคัญให้ทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนถึงสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนได้มากที่สุด ตามข้อสั่งการของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์