นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (13 มิ.ย. 67) ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 38,588 ล้าน ลบ.ม. (51% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) สามารถรับน้ำได้อีก 37,749 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 10,000 ล้าน ลบ.ม. (40% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) สามารถรับน้ำได้อีก 14,871 ล้าน ลบ.ม. และตั้งแต่ 1 พ.ค. 67 จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำช่วงฤดูฝนปี 67 ทั้งประเทศไปแล้วกว่า 5,180 ล้าน ลบ.ม. (34% จากแผนฯ) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 1,875 ล้าน ลบ.ม.(38% จากแผนฯ)
กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 11 – 15 มิ.ย. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง กรมชลประทาน ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ติดตามเฝ้าระวังสภาพอากาศ รวมทั้งสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด นำข้อมูลจากหน่วยงานพยากรณ์ที่เกี่ยวข้องมาวางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ควบคู่ไปกับการเก็บกัก พร้อมปฏิบัติตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 67 ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) อย่างเคร่งครัด
ที่ผ่านมา กรมชลประทาน ได้ดำเนินการสนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ เข้าไปกำจัดวัชพืชสิ่งกีดขวางทางน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาคุณภาพน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำและระบายน้ำ ตลอดจนตรวจสอบความมั่นคงของอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมเน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ในการเข้าไปช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ตามข้อสั่งการของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์