(6 มิ.ย.67) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (ออส.) กล่าวว่า ด้วยปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูเพาะปลูกและหว่านผลผลิตของเกษตรกรและชาวบ้าน การทำการเกษตรแม้จะสามารถทำได้หลายรูปแบบ แต่ก็มีผลดีและผลเสียแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม การทำการเกษตรและปรับที่ทำกินเป็นแบบขั้นบันได จะช่วยแก้ปัญหาหน้าดินพังทลายและช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ
จากงานวิจัยของสถาบันการศึกษาและกรมพัฒนาที่ดิน พบว่าการทำเกษตรแบบขั้นบันได จะช่วยลดความเร็วของน้ำไหลให้ลดลง 40 – 60% ส่งผลให้หน้าดินถูกกัดเซาะน้อยลง ป้องกันปัญหาดินพังทลาย เพิ่มการซึมน้ำทำให้ความชื้นในดินเพิ่มสูงขึ้น ช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดีขึ้น เป็นการเพิ่มการยึดเกาะของดินโดยรากพืชคลุมดินบนขั้นบันได จะช่วยยึดเกาะหน้าดิน เป็นการเพิ่มอินทรีย์วัตถุในดิน อีกทั้งยังเป็นการลดการพึ่งพาสารเคมี โดยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นประกอบด้วยทำให้หน้าดินมีความอุดมสมบูรณ์ พืชเจริญเติบโตได้ดี มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เป็นการรักษาพื้นที่ป่าไม้ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กล่าวโดยสรุปคือ การทำเกษตรแบบขั้นบันไดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาดินพังทลาย รักษาพื้นที่ป่าไม้ และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร
ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงขอความร่วมมือจากราษฎรที่อยู่อาศัยทำกินในเขตป่าอนุรักษ์ ภายใต้มาตรา 64 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 มาตรา 121 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 บนพื้นที่สูงชันที่มีความลาดชันมาก (ชั้น 1A , 1B หรือ ชั้น 2) ดำเนินการปรับพื้นที่ทำกินเป็นแบบขั้นบันได โดยให้ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 1-16 และสาขา จัดเจ้าหน้าที่สร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน ถึงประโยชน์ของการทำการเกษตรแบบขั้นบันได โดยให้เจ้าหน้าที่เร่งสร้างความเข้าใจกับชุมชนทันที เนื่องจากเข้าสู่ฤดูเตรียมพื้นที่ทำกินแล้ว
นอกจากนี้ยังให้ทุกสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ จัดกิจกรรมประชาอาสาทำการเกษตรแบบขั้นบันได ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าซึ่งมีพื้นที่สูงชัน โดยให้สำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำเป็นผู้ดำเนินการ ร่วมกับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 1-16 และสาขา อย่างเร่งด่วน