จากนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า) ด้านโครงการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยจัดกิจกรรมที่เกิดประโยชน์กับเกษตรกร เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างยิ่งใหญ่ตลอดทั้งปี ทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มีแนวทางสนองนโยบาย โดยเสนอโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ 5 โครงการ ดังนี้ 1) โครงการขยายผลธนาคารอาหารชุมชน (เกษตรวิชญา) สู่ธนาคารอาหารครัวเรือนเฉลิมพระเกียรติฯ 2) โครงการคลินิกกฎหมายเฉลิมพระเกียรติฯ 3) โครงการ ส.ป.ก. รวมใจบริจาคโลหิตเฉลิมพระเกียรติฯ 4) โครงการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ “สืบสานพระราชดำริ” เฉลิมพระเกียรติฯ และ 5) โครงการจิตอาสารักษ์สิ่งแวดล้อมเฉลิมพระเกียรติฯ นอกจากนี้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้เตรียมงานมอบโฉนดเพื่อการเกษตร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จำนวน 72,000 ฉบับ โดยสิทธิประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับจากโฉนดเพื่อการเกษตร มีดังนี้
1. เปลี่ยนมือได้ (โอนสิทธิ) สามารถโอนคืน ส.ป.ก. ได้ โดยโอนคืนให้ ส.ป.ก.ทั้งแปลงหรือบางส่วนได้ โดยได้รับค่าชดเชย หากเกษตรกรไม่ประสงค์ประกอบอาชีพเกษตรกรรม สามารถสละสิทธิให้เกษตรกรอื่นที่มีคุณสมบัติตามกำหนด โดยสามารถเปลี่ยนมือให้แก่เกษตรกรอื่นที่มีคุณสมบัติตาม ส.ป.ก. กำหนด
2. เพิ่มวงเงินสินเชื่อ การเข้าถึงแหล่งทุนใหม่ สามารถเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ โดยขยายวงเงินสินเชื่อให้กับเกษตรกรที่ขอกู้กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรือใช้ไม้มีค่าที่ปลูกบนที่ดิน ค้ำประกันสินเชื่อให้ถึง 80 % และสามารถขอสินเชื่อนโยบายจากกองทุน ส.ป.ก. เต็มวงเงินตามราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ นอกจากนั้นยังเพิ่มแหล่งสินเชื่อใหม่ โดยการเจรจากับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ชุมนุมสหกรณ์ สถาบันการเงินของรัฐ และสถาบันการเงินอื่น
3. สามารถใช้ค้ำประกันตัวบุคคล โดยเป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่สามารถค้ำประกันตัวบุคคลทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาล โดยความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
4. สร้างรายได้ให้เกษตรกร เพิ่มทรัพย์สินโดยส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า 10 ต้นต่อไร่ ซึ่งสามารถใช้ต้นไม้ค้ำประกันสินเชื่อ (โฉนดต้นไม้) และขาย Carbon Credit โดยความร่วมมือกับ กรมป่าไม้, ธ.ก.ส. และ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.)
5. ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจากรัฐในด้านโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค ซึ่งมีการทำ MOU 16 หน่วยงาน ด้านการพัฒนาอาชีพ และรับเงินชดเชยหรือเยียวยาภัยพิบัติ
นอกจากนี้ ส.ป.ก. ได้มีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายโฉนดต้นไม้ในเขตปฏิรูปที่ดินครั้งที่ 1/2567 เพื่อร่วมรับทราบ การส่งเสริมระบบวนเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนนโยบายโฉนดต้นไม้ การส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า และคาร์บอนเครดิตในเขตปฏิรูปที่ดิน และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง ส.ป.ก. กับ ธ.ก.ส. เรื่อง การให้ผู้ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมขอรับสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในการนี้ ที่ประชุมได้ร่วมพิจารณา กรอบการขับเคลื่อนนโยบายโฉนดต้นไม้ และการส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าในเขตปฏิรูปที่ดิน (ร่าง)ขั้นตอนการออกโฉนดต้นไม้และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องในการออกโฉนดต้นไม้ในเขตปฏิรูปที่ดิน และกิจกรรมเริ่มต้น (KICKOFF) การมอบโฉนดต้นไม้ในเขตปฏิรูปที่ดิน