จากสถานการณ์น้ำเค็มจากแม่น้ำบางปะกงไหลทะลักเข้าพื้นที่คลองประเวศบุรีรมย์และคลองสาขา ต.บางกรูด อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและพืชน้ำ รวมทั้งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคของประชาชน สัตว์น้ำในคลองสาขาลอยตาย น้ำเค็มทำให้ผักตบชวาในคลองต่าง ๆ เน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น รวมทั้งพื้นที่การเกษตรโดยเฉพาะพื้นที่บ่อปลาน้ำจืดได้รับความเสียหาย โดยหลายฝ่ายได้เร่งแก้ไขปัญหาเชิงบูรณาการร่วมกัน เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน
นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาที่ดิน ยังคงเร่งสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์น้ำเค็มรุกเข้าพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และ จังหวัดสมุทรปราการ โดยได้มอบหมายให้ ดร.อาทิตย์ ศุขเกษม รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดินด้านวิชาการ ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายอย่างต่อเนื่อง โดยสถานีพัฒนาที่ดินฉะเชิงเทรา และศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เก็บตัวอย่างดินและตัวอย่างน้ำในพื้นที่คลองประเวศบุรีรมย์ไปตรวจวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการ เพื่อประเมินระดับความเค็มของพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์ผลกระทบน้ำเค็มในพื้นที่การเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการที่เกิดขึ้นกับประชาชนและเกษตรกรโดยเร็วที่สุด พร้อมเร่งสนับสนุนจุลินทรีย์พด. นำไปผลิตสารบำบัดน้ำเสียเร่งด่วน
ทั้งนี้ สถานีพัฒนาที่ดินฉะเชิงเทรา และสถานีพัฒนาที่ดินสมุทรปราการ ได้ผลิตสารบำบัดน้ำเสียและ ขจัดกลิ่นเหม็นจากสารเร่งซุปเปอร์พด. 6 วันละ 10,000 ลิตร นำไปใช้ฉีดพ่น บริเวณพื้นที่คลองหน้าวัดเทพราช ต.เทพราช อ.บ้านโพธิ์ จำนวน 5,000 ลิตร คลองหน้าวัดประเวศ ต.คลองประเวศ อ.บ้านโพธิ์ จำนวน 5,000 ลิตร และพื้นที่สะพานข้ามคลองแขวงกลั่น ต.เกาะไร่ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 10,000 ลิตร
อีกทั้ง ให้คำแนะนำแก่หน่วยงานและเกษตรกรในการปรับปรุงดินที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเค็ม ในช่วงต้นฤดูฝน แนะนำให้ฟื้นฟูดินตามชนิดพืช โดยทั่วไปให้ทำการระบายน้ำเค็มออกก่อน ถ้าในพืชผักให้ทำการยกร่อง ใช้แกลบดิบ และปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ในแปลงปลูกพืช เพื่อเพิ่มความร่วนซุยและความชื้นของดิน และใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.3 ที่ขยายในปุ๋ยหมักร่วมด้วยเพื่อกำจัดโรครากเน่าโคนเน่า ส่วนนาข้าวให้ใช้น้ำหมักชีวภาพจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ราด เพื่อช่วยให้ตอซังย่อยสลายได้เร็วขึ้นและทำการไถกลบ