ทีมนักวิทยาศาสตร์ของจีนได้พัฒนาฟิล์มโพลีเอสเตอร์ชนิดบางที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพเทคโนโลยีการแยกเกลือออกจากน้ำทะเลและการทำน้ำให้บริสุทธิ์ โดยผลการวิจัยดังกล่าวเผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์นานาชาติเมื่อวันศุกร์ (19 เม.ย.) ที่ผ่านมา
ทีมวิจัยที่นำโดยจางเซวียน ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหนานจิง พัฒนาเยื่อกรองโพลีเอสเตอร์แบบออสโมซิสย้อนกลับ (reverse osmosis) ซึ่งเอาชนะข้อจำกัดหลายประการของเยื่อกรองโพลีเอไมด์ที่ถูกใช้งานเชิงพาณิชย์ทั่วไป โดยถือเป็นโซลูชันใหม่สำหรับเทคโนโลยีการแยกเกลือออกจากน้ำทะเล
ปกติแล้วเยื่อกรองแบบออสโมซิสย้อนกลับแสดงประสิทธิภาพที่ดีในแง่ของศักยภาพการซึมผ่านของน้ำและการกักกันเกลือ (salt rejection) ทว่าเสี่ยงต่อการย่อยสลายเมื่อเจอน้ำที่มีคลอรีนหรือสารออกซิแดนท์อย่างแรงอื่นๆ
จางอธิบายว่าจำเป็นต้องเติมคลอรีนลงในน้ำทะเลในกระบวนการบำบัดน้ำขั้นเตรียมการ แต่สารที่มีคลอรีนเป็นองค์ประกอบทำให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างทางเคมีของฟิล์มโพลีเอไมด์ และอาจย่อยสลายฟิล์มชนิดนี้โดยตรง ดังนั้นน้ำทะเลจะต้องถูกกำจัดคลอรีนหลังจากผ่านการเติมคลอรีน จึงจะสามารถเข้าสู่กระบวนการกรองแบบออสโมซิสย้อนกลับได้
ฟิล์มโพลีเอสเตอร์ที่พัฒนาขึ้นใหม่แสดงคุณสมบัติทนทานต่อการย่อยสลายผ่านปฏิกิริยาไฮโดรไลซิส (hydrolytic degradation) และมีความทนทานต่อคลอรีน จึงอาจปูทางสู่การลดขั้นตอนการเตรียมการต่างๆ ในการแยกเกลือออกจากน้ำทะเลได้อย่างมาก
ขอบคุณข้อมูล/ภาพ จาก : สำนักข่าวซินหัว(Xinhua)