วันที่21 เม.ย. 67 ที่ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต จังหวัดฉะเชิงเทรา นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน ร่วมประชุมหน่วยปฏิบัติการจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 3/2567 โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประธานหน่วยบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เป็นประธานการประชุมผ่านทางระบบ VDO Conference ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามผลการปฏิบัติงานและแนวทางการปรับแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเค็มจังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดสมุทรปราการ
กรมชลประทาน ยังคงเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยมีการระดมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 26 เครื่อง พร้อมกันนี้ยังได้ส่งเรือนวัตกรรมกำจัดวัชพืช จำนวน 7 ลำ เข้าไปกำจัดวัชพืชเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและรักษาคุณภาพน้ำไม่ให้เน่าเสีย ตลอดจนส่งน้ำอุปโภค-บริโภค ช่วยเหลือประชาชน 2,320 ครัวเรือน ในเขตพื้นที่ 9 หมู่บ้าน รวมปริมาณน้ำทั้งสิ้น 990,000 ลิตร
ทั้งนี้ กรมชลประทาน มีแนวทางการดำเนินการบริหารเพิ่มปริมาณน้ำเจือจางและไล่น้ำเค็ม เพื่อให้สถานการณ์กลับมาสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด อาทิ
-เพิ่มน้ำผ่านประตูน้ำพระนารายณ์ ประตูน้ำรังสิต ประตูน้ำพระยาสุเรนทร์ ประตูน้ำลาดกระบัง เพื่อเร่งผลักดันน้ำจากตอนบนมาช่วยสนับสนุนผลักดันน้ำเค็ม
-รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าสู่คลองเปรมประชากรและสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ ปตร.จุฬาลงกรณ์ มาสู่คลองรังสิต และเข้าสู่คลอง 3 คลอง 4 และมาผ่านคลองหกวา
-เพิ่มน้ำจากแม่น้ำนครนายกผ่านคลอง 23 25 29 และคลองอื่นๆ โดยพิจารณาปริมาณน้ำจัดสรรจากเขื่อนขุนด่านปราการชล
-เพิ่มปริมาณสูบน้ำจากด้านตะวันตกของประตูกลางคลองประเวศบุรีรมย์ เข้าคลองประเวศบุรีรมย์เพื่อเร่งเจือจางน้ำในคลองชวดพร้าวและคลองสาขาอื่นๆ
-ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อเร่งผลักดันน้ำ บริเวณ 5 จุด ได้แก่ คลองแขวงกลั่น คลองเปร็ง ปตร.สุคันธาวาส ปตร.กาหลง และปตร.ชวดพร้าว
ในช่วงบ่าย นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน และคณะ ได้เดินทางไปยังบริเวณคลองพระยาสมุทร คลองพระยานาคราช และคลองสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำเค็มในพื้นที่ จากนั้นได้เดินทางไปยัง ปตร.กลางคลองประเวศบุรีรมย์ และคลองเปร็ง เพื่อติดตามความก้าวหน้าและวางแผนติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมสำหรับผลักดันน้ำเค็ม ตลอดจนหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเพิ่มเติมเพื่อให้สถานการณ์กลับมาสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด