นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการโครงการเกษตรวิชญา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโครงการเกษตรวิชญา ครั้งที่ 1/2567 พร้อมด้วย พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ที่ปรึกษาโครงการฯ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปรึกษาโครงการฯ โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการ และนายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เป็นเลขานุการ พร้อมด้วยคณะกรรมการโครงการเกษตรวิชญา ผู้แทนโครงการในพระราชดำริ สำนักพระราชวัง และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เข้าร่วมประชุม ณ กรมพัฒนาที่ดิน
ทั้งนี้ ประธาน ได้มอบแนวทางการดำเนินงานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้ความสำคัญกับแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกในการที่จะพัฒนาพื้นที่ ซึ่งจะต้องมีน้ำเพียงพอ เพื่อให้เกษตรกรได้มีน้ำอุปโภค บริโภค และน้ำใช้เพื่อการเกษตรทั่วถึง จึงได้มอบหมายให้กรมชลประทานสำรวจพื้นที่โดยรอบที่เป็นป่า เขา เพื่อหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติมเพื่อรองรับน้ำฝนไว้ใช้เพื่อการเพาะปลูก รวมถึงสำรวจคุณภาพน้ำ เนื่องจากบางพื้นที่ยังมีน้ำไม่บริสุทธิ์ ไม่สามารถใช้ในการบริโภคได้
ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานโครงการเกษตรวิชญาในปี 2566 ในพื้นที่โครงการเกษตรวิชญา จำนวน 5 กิจกรรม ได้แก่ 1) พื้นที่ป่าไม้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 เชียงใหม่ ได้ดำเนินการฟื้นฟู และอนุรักษ์ป่าไม้ ส่งผลให้ในปัจจุบันโครงการเกษตรวิชญา มีสภาพเป็นป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์ และพร้อมเป็นจุดสาธิตในด้านการบำรุงรักษา อนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ให้มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ และส่งเสริมให้มีการปลูกพืชเศรษฐกิจร่วม
2) พื้นที่ธนาคารอาหารชุมชน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ได้พัฒนาพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้คืนกลับสู่ธรรมชาติเป็นธนาคารอาหารชุมชน โดยน้อมนำแนวพระราชดำริการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ส่งผลให้เกิดป่าไม้แบบผสมผสาน เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นแหล่งอาหารของชุมชน
3) พื้นที่ศูนย์สาธิตการเรียนรู้เกษตรบนพื้นที่สูง กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน 2 รูปแบบ คือ ที่ตั้งของอาคารสำนักงาน ศูนย์บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีชุมชน ศูนย์ประสานการปฏิบัติงานของหน่วยงานบูรณาการ และพื้นที่จัดทำแปลงวิจัยพัฒนาและแปลงสาธิตทดสอบด้านการเกษตรบนพื้นที่สูง เพื่อเป็นแปลงตัวอย่าง ให้เกษตรกรได้เรียนรู้และนำไปปฏิบัติในพื้นที่ของตนเองได้อย่างเหมาะสม
4) พื้นที่จัดสรรให้เกษตรกรทำกิน พัฒนาศักยภาพพื้นที่ด้านการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมต่อการปลูกพืช แหล่งน้ำเพียงพอต่อการเกษตร โดยมีเกษตรกรเป็นสมาชิกในโครงการ จำนวน 58 ราย และได้รับการฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาเป็นเกษตรกรต้นแบบ
5) การศึกษาข้อมูลพื้นฐานสถานภาพของดินและอนุรักษ์ทรัพยากรดินในพื้นที่ป่าไม้ของโครงการเกษตรวิชญา โดยกรมพัฒนาที่ดินศึกษาและประเมินศักยภาพทรัพยากรดินที่สำรวจเก็บรวบรวม และศึกษาศักยภาพของทรัพยากรที่อาจนำไปสู่การพัฒนาพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ สายพันธุ์จุลินทรีย์ และความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในดินในพื้นที่ป่าไม้ของโครงการเกษตรวิชญา
สำหรับความก้าวหน้าการดำเนินงานปี 2567 (เดือนตุลาคม 2566 – มีนาคม 2567) คณะทำงานฯ ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับพื้นที่ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธานคณะทำงาน พร้อมด้วยหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 58 เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด
นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบปรับแผนปฏิบัติการโครงการเกษตรวิชญา ปี 2567 โดยเพิ่มเติมโครงการจัดทำฝายชะลอน้ำบริเวณพื้นที่ต้นน้ำแม่สา เพื่อสนับสนุนเป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้กับคลองแม่ข่า อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ รวมทั้งเห็นชอบและให้ข้อเสนอแนะในการจัดทำโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ของโครงการเกษตรวิชญา ตลอดจนเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานในปี 2568 ให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการโครงการเกษตรวิชญาระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อเสนอของบประมาณจากสำนักงาน กปร. ต่อไป
ทั้งนี้ โครงการเกษตรวิชญา เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ บริเวณบ้านกองแหะ หมู่ที่ 4 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่โครงการ 4 ส่วน ประกอบด้วย พื้นที่ป่าไม้ เนื้อที่ 1,062 ไร่ พื้นที่ธนาคารอาหารชุมชน เนื้อที่ 123 ไร่ พื้นที่ศูนย์สาธิตการเรียนรู้เกษตรบนพื้นที่สูง เนื้อที่ 70 ไร่ และพื้นที่จัดสรรให้เกษตรกรทำกิน เนื้อที่ 95 ไร่ รวมเนื้อที่ 1,350 ไร่ ให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำไปดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำ พัฒนาที่ดิน เพื่อให้เกษตรกรทำการเกษตรได้ การใช้ที่ดินมีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และมีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ โดยดำเนินงานในรูปแบบบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ให้เกิดเป็นศูนย์เรียนรู้และสาธิตด้านการเกษตรบนพื้นที่สูงแบบชุมชนมีส่วนร่วม สำหรับเกษตรกรในโครงการและพื้นที่ใกล้เคียง โดยสืบสาน รักษา และต่อยอดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร