จากที่ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ Kick off เปลี่ยนโฉนดเพื่อการเกษตร เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2567 จำนวน 25,000 ฉบับพร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อยกระดับจากหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน หรือ ส.ป.ก. 4-01 ให้มีมูลค่าเพิ่มจากเดิม โดยเกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกิน และทำประโยชน์มาไม่น้อยกว่า 5 ปี สามารถติดต่อขอเปลี่ยนเป็นโฉนดเพื่อการเกษตรได้ที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินทุกจังหวัดทั่วประเทศ
นางเฉลียว เพียลา อายุ 73 ปี กล่าวว่า ตนเป็นเกษตรกรอาศัยอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ณ ตำบลย่านรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี บนพื้นที่ 50 ไร่ ปัจจุบันประกอบอาชีพเกษตรกร ปลูกข้าวโพด มัน และยูคาลิปตัส ซึ่งหลังจากรัฐบาลได้มีการอนุมัติให้ออกโฉนดเพื่อการเกษตร ตนจึงได้เดินทางมายังสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดปราจีนบุรี เพื่อเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร โดยตนรู้สึกดีใจเป็นอย่างมากหลังจากเฝ้ารอโฉนดเพื่อการเกษตรมาอย่างยาวนาน และมีเอกสารสิทธิที่รับประกันแน่นอนว่าจะสามารถส่งต่อสู่ลูกหลานได้ ทั้งนี้ จึงได้ดำเนินการแบ่งให้บุตรสาว “นางชุ่มจิตร ด่านเจ้าแดง” จำนวน 25 ไร่ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และต้องขอบคุณ ส.ป.ก. ที่ได้ออกโฉนดเพื่อการเกษตรให้กับเกษตรกร
นายวรวุฒิ คำเงิน อายุ 28 ปี กล่าวอีกว่า วันนี้ได้เดินทางมายังสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดปราจีนบุรีเจตจำนงเพื่อขอออกโฉนดเพื่อการเกษตร โดยตนอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 50 ไร่ ประกอบอาชีพเกษตรกร ปลูกข้าว ยูคาลิปตัส และพืชผักสวนครัว ซึ่งตนทราบข่าวสารมาว่าทางรัฐบาลได้ประกาศให้มีการเปลี่ยนเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร ซึ่งจะมีสิทธิ ในการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น นำไปเข้าธนาคาร ธ.ก.ส. หรือธนาคารอื่นๆ หากในอนาคต ต้นทุนของเราไม่เพียงพอก็จะมีวิธีบริหารจัดการได้ดีขึ้นจากเดิมที่กู้ยืม ส.ป.ก. ได้ทางเดียว แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นโฉนด จะได้เงินต้นทุนขึ้นมาแล้วก็เอาไปใช้ทำประโยชน์ในที่ดินของเราได้ เพราะฉะนั้น ต้องขอขอบคุณทาง ส.ป.ก. ที่ทำให้ครอบครัวมีที่ดินทำกิน มีกิน มีใช้ ตลอดปี และในอนาคตหลังจากได้โฉนดเพื่อการเกษตรเราก็จะมีการส่งต่อสู่ลูกหลานต่อๆ ไป
ทั้งนี้ โฉนดเพื่อการเกษตรมีมูลค่าเพิ่มขึ้นและสามารถใช้ค้ำประกันในศาลและคำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงินและสหกรณ์ได้ทุกแห่ง มูลค่าของที่ดินจะเพิ่มตามมูลค่าของราคาที่ดินที่ประเมินอ้างอิงกับกรมธนารักษ์อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ที่ดินที่ได้รับการจัดสรรโดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) นั้น ตามกฎหมายจะต้องทำการเกษตรเป็นหลักเท่านั้น เชื่อมั่นว่า ที่ดิน ส.ป.ก. จะพัฒนาเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญและส่งต่อเป็นที่ดินมรดกของลูกหลานเกษตรกรสืบต่อไป