เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 เวลา 08.30 น. นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายพร้อมเปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดสงขลา ณ ห้องประชุมกองบิน 56 สนามบินกองบิน 56 อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา พร้อมด้วย นายวีรวัฒน์ อังศุพาณิชย์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ และ นายราเชน ศิลปะรายะ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านบริหาร โดยมี นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ให้การต้อนรับ นอกจากนี้ยังได้มีการประชุมรับฟังแผนและผลการปฏิบัติการของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ และร่วมขึ้นบินสำรวจพื้นที่การเกษตรของจังหวัดสงขลาอีกด้วย
นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ปริมาณฝนรายเดือนและรายปีของประเทศไทย พ.ศ.2567 เปรียบเทียบกับค่าปกติ (พ.ศ.2534-2563) พบว่า ในพื้นที่ภาคใต้ เดือน มีนาคม – เดือนเมษายน มีปริมาณฝนสะสมอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าค่าปกติ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ จึงได้จัดทำแผนการป้องกันและแก้ปัญหาภัยแล้งและแผนบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า โดยจะมีแผนการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.สุราษฎร์ธานี จ.ชุมพร จ. สงขลา และ จ.กระบี่ ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่เพื่อประเมินผลและวางแผนการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง พบว่าในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2567 ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างมีการขอรับบริการฝนหลวงมากขึ้น
จึงได้สั่งการให้ดำเนินการจัดตั้ง
-หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.สงขลา ตั้งแต่ วันที่ 12 มีนาคม 2567
-เครื่องบิน CARAVAN จำนวน 2 ลำ (ตั้งแต่ 12 มี.ค. 67)
-เครื่องบิน BT จำนวน 1 ลำ (ตั้งแต่ 15 มี.ค. 67)
เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงให้ได้ปริมาณน้ำฝนครอบคลุมพื้นที่ที่มีการขอรับบริการอย่างเพียงพอ สำหรับศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ มีพื้นที่รับผิดชอบ จำนวน 11 จังหวัด ได้แก่ จ.สงขลา ตรัง พัทลุง กระบี่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และ จ.ราชบุรี
นายสุพิศ อธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้นำเฮลิคอปเตอร์ AS350 เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจตักน้ำดับไฟป่าจากเหตุการณ์ไฟไหม้พื้นที่ป่าไม้ “ภูเขาปากเบน” จ.กระบี่ ซึ่งสรุปภารกิจได้ดังนี้
-วันที่ 10 มีนาคม 2567 ปฏิบัติภารกิจ จำนวน 9 เที่ยวบิน ใช้น้ำรวมทั้งหมด 4,500 ลิตร
-วันที่ 11 มีนาคม 2567 ปฏิบัติการบิน จำนวน 18 เที่ยวบิน ใช้น้ำรวมทั้งหมด 9,000 ลิตร
-วันที่ 12 มีนาคม 2567 ปฏิบัติการบิน จำนวน 23 เที่ยวบิน ใช้น้ำรวมทั้งหมด 11,500 ลิตร
จากผลปฏิบัติการไฟได้ดับลงและกลุ่มควันน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ จะมีการติดตามสถานการณ์ไฟป่าและสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้อย่างใกล้ชิด เพื่อสามารถนำมาปรับแผนการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและพี่น้องประชาชนอย่างรวดเร็วต่อไป