วันที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการหารือข้อพิพาทกรณีการออกเอกสารสิทธิ์ ที่ดินส.ป.ก. 4-01 ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ได้มีการแถลงข่าวร่วมกันระหว่าง 2 หน่วยงาน
โดยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ กล่าวว่า การประชุมวันนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทุกคนได้ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ ทั้งสองกระทรวงมีเป้าหมายทำงานเพื่อประชาชน ซึ่งในส่วนของกระทรวงทรัพย์ฯ นอกจากดูแลป่าและทะเลแล้วบางส่วน ก็ดูแลพื้นที่ของประชาชน เช่นเดียวกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ดูแลพื้นที่ทำกินของประชาชน วันนี้เราเอาข้อเท็จจริงมาพูดคุยกันทั้งหมด รวมถึงการวางแนวทางการทำงานร่วมกัน
นอกจากนี้ทางกระทรวงทรัพย์ฯ ได้เสนอไปทางกระทรวงเกษตรฯ จากนี้การออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกิน ส.ป.ก. จะต้องมีคณะกรรมการจาก 9 หน่วยงาน ไปร่วมรับรองแนวเขตด้วย สำหรับพื้นที่ที่เป็น Colidor หรือแนวกันชน หรือพื้นที่รอยต่อจะต้องมีการอนุรักษ์ไว้สำหรับสัตว์ป่า ซึ่งถือเป็นนโยบายของรัฐบาล จึงขอไว้เป็นข้อตกลงหรือ MOU ร่วมกันระหว่างสองกระทรวง พร้อมยืนยันว่าจะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งการอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่า รวมถึงประชาชน
ขณะที่ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล กล่าวยืนยันว่า พื้นที่กันชนจะไม่มีการนำมาจัดสรรเป็นที่ดินทำกินให้ประชาชน สำหรับพื้นที่บริเวณปัญหาพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา และจ.ปราจีนบุรี จะรอให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินแห่งชาติจัดทำ One Map ให้แล้วเสร็จก่อนจนกว่าจะได้ข้อยุติใน 2 เดือนนี้ โดยหากคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ข้อสรุปอย่างไรทั้ง 2 กระทรวงจะยึดตามนั้น แต่อย่างไรก็ตามหากพื้นที่ของ ส.ป.ก. เป็นพื้นที่ที่มีประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ป่า หรือเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่า หากจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรไปแล้วจะกระทบต่อ ซึ่งร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้เว้นไว้อาจทำเป็นป่าชุมชน ไม่ให้มีการจัดสรรที่ดินดังกล่าวให้กับเกษตรกร
ปลัดกระทรวงเกษตร ยังกล่าวด้วยว่า การพิสูจน์เกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินไปแล้วก่อนหน้านี้ว่าเป็นเกษตรกรตัวจริงหรือไม่นั้น ตนได้มีคำสั่งมอบหมายไปยังผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับเขตและระดับจังหวัด เพื่อตรวจสอบว่า เกษตรกรที่เป็นเจ้าของเอกสารสิทธิ์ทั่วประเทศ เป็นเกษตรกรตัวจริงหรือไม่ แต่หากไม่ใช่เกษตรกรตัวจริง จะต้องดำเนินการยกเลิกเอกสารสิทธิ์ดังกล่าว และให้ดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการที่ออกเอกสารสิทธิ์ที่ไม่ใช่เกษตรกร พร้อมยืนยันว่า พื้นที่ใดที่เป็นอุปสรรคหรือมีปัญหาเรื่องการทับซ้อน จะมีการส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติโดยใช้วันแมปเป็นตัวตัดสิน
ด้านอธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นายอรรถพล เจริญชันษา กล่าวว่าตนได้คุยกับเลขาฯ ส.ป.ก.แล้ว จะมีการกำหนดทีมงานเพื่อทำงานร่วมกัน โดยมีการวางกรอบระยะทำงาน 30 วันแรก เป็นการวางขอบเขตของทั้ง 2 หน่วยงาน ว่ามีพื้นที่ทับซ้อนหรือไม่ตรงกันหรือไม่ ซึ่งจะทำให้ทราบว่าทั้งประเทศมีพื้นที่ใดบ้างที่ไม่ตรงกัน ซึ่งภายใน 1 เดือนนี้ พื้นที่ใดไม่มีปัญหาเรื่องการทับซ้อน ก็จะสามารถส่งเรื่องให้ คณะกรรมการวันแมป ส่วนที่เหลือจะรอการจัดทำพื้นที่ร่วมกันของคณะกรรมการวันแมป
ขณะที่ เลขาฯ ส.ป.ก. นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข กล่าวว่า เมื่อที่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาตนได้มีหนังสือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ แต่งตั้งคณะทำงานประกอบด้วย 9 หน่วยงาน ว่ามีการทับซ้อนหรือรุกล้ำหน่วยงานใดหรือไม่ เพื่อเข้ามาเป็นคณะทำงานช่วยดูว่าการออกเอกสารสิทธิ์ของ ส.ป.ก.ทับซ้อนหรือไม่ หรือรุกล้ำหน่วยงานใดหรือไม่ เพื่อให้ยืนยันว่า ส.ป.ก.ออกเอกสารสิทธิ์ถูกที่ ถูกทาง ไม่ไปล้ำที่ป่าไม้ หรือสถานที่สำคัญของหลวง ยืนยันว่า จากนี้พื้นที่ตรงไหน ที่มีปัญหาทับซ้อนกันเราจะไม่ทะเลาะกัน จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการวันแมปพร้อมกับยังระบุอีกว่า หากพื้นที่ใดเข้าใกล้พื้นที่กันชนหรือพื้นที่เตรียมการสำหรับการอนุรักษ์ อยากให้ กรมอุทยานแจ้งมายัง ส.ป.ก. เพราะก่อนหน้านี้ต่างคนต่างทำงาน และต่อจากนี้จะทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น
“อดีตที่ผ่านมาก็ชั่งหัวมัน เพราะสุดท้ายต่างคนก็ต่างทำหน้าที่ เพราะสุดท้ายพี่ (ชัยวัฒน์) ก็ต้องทำงานให้ชาวบ้าน ผมก็ต้องทำงานให้ชาวบ้าน เพียงแต่ว่า เจตนารมณ์ของแต่ละหน่วยงาน มีมิติการทำงานไม่ตรงกัน พี่ชัยวัฒน์มีหน้าที่อนุรักษ์ ส่วนผมก็มีหน้าที่หาที่ดินให้คน ผมก็ต้องทำตามหน้าที่ ซึ่งวันนี้ก็ต้องมาคุยกัน แต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการ ให้ทำหนังสือ จะได้ดูแลการทำงาน ไม่ต้องเกิด Conflict กันในอนาคต ทุกคนยอมรับด้วยกัน ส.ป.ก.ออกพื้นที่ตรงนี้ได้นะหากไม่ได้ก็แย้งมา ก็จะหยุดเพื่อมาดูในรายละเอียด”
เลขาฯ ส.ป.ก. กล่าวว่าไม่ต้องกังวลเรื่องเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.ที่ได้ออกไปแล้ว ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการคุยกันของรัฐ และหากที่สุดแล้วมีมติออกมาเป็นอย่างไร ประชาชนที่ได้รับผลกระทบรัฐจะเยียวหาให้แน่นอน ซึ่งพื้นที่ที่มีปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นแนวตะแข็บรอยต่อ คณะกรรมการวันแมปจะรับผิดชอบดูแล แต่ตอนนี้อะไรที่ยังไม่ชัดเจนขอให้ใช้ชีวิตตามปกติสุขไป
สำหรับเรื่องคดีความที่ 2 หน่วยงานแจ้งความดำเนินคดีไว้นั้น ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระบุว่า ทั้งสองหน่วยงานตกลงกันว่าจะให้ดำเนินการตรวจสอบแนวเขตให้เสร็จสิ้นภายใน 2 เดือน ส่วนคดีความตนจะรับผิดชอบเอง ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาขอให้ทุกอย่างดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ให้รอข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และหลักวิทยาศาสตร์ หลังจากวันแมปชี้ขาดเส้นแนวเขตแล้ว เรื่องคดีค่อยมาพูดคุยกัน
ส่วนแนวเส้นระหว่างอุทยานฯ และ ส.ป.ก. ในพื้นที่ทับซ้อน ที่ทั้ง 2 หน่วยงาน จะเข้าไปตรวจสอบนั้นจะใช้วิธีการตรวจสอบจาก Field book ของทั้ง2 หน่วยงานมาเปรียบเทียบกัน หากมีพื้นที่ทับซ้อนก็จะต้องพูดคุยตกลงว่าจะยกพื้นที่นั้นให้ใครดูแล หากตกลงกันได้ก็จะดำเนินการต่อทันที แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็จะส่งให้คณะกรรมการวันแมปเป็นผู้ชี้ขาด
ด้านตัวแทน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ว่าที่ร้อยตรีพีรพล มั่นจิตต์ ระบุว่า สคทช. ให้ความสำคัญกับเรื่องการแบ่งเส้นที่ดินของรัฐให้ชัดเจน แต่หากหน่วยงานผู้ปฏิบัติดำเนินการแล้วมีความขัดแย้งกัน สคทช.ก็มีอนุกรรมการตามกฎหมายช่วยเหลือเพื่อเสนอเข้าสู่ ครม. เป็นกฎหมายออกมา ส่วนการพิสูจน์เขตแดนก็จะส่งตัวแทนเข้าไปร่วมด้วย ส่วนความคืบหน้าการทำวันแมปใน 77 จังหวัดทั่วประเทศมีการแบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม ทำเสร็จเรียบร้อยเสนอเข้า ครม.ไปแล้ว 3 กลุ่ม และกลุ่มที่ 4 กำลังจะเข้า ส่วนกลุ่มที่ 5-7 อยู่ในปีงบประมาณ 68
ส่วนกรณีที่นายชัยวัฒน์ เคยประกาศว่า ไม่ยอมรับแผนที่ของวันแมปนั้น นายชัยวัฒน์ ชี้แจงว่า สิ่งที่ตนพูดไปคือไม่ยอมรับการที่กรมแผนที่ทหารนำแผนที่ที่ตัวเองรังวัดใหม่ไปส่งให้กับคณะกรรมการวันแมปแล้วคณะกรรมการวันแมปยอมรับแผนที่ดังกล่าว แต่หลังจากนี้ เมื่อมีการหารือกันระหว่าง 2 หน่วยงานให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการวันแมปเป็นผู้ขีดเส้น หากอยู่ในพื้นที่ของใครก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมายกับอีกฝ่าย ดังนั้นผลการพูดคุยวันนี้เป็นที่น่าพอใจ เพราะตนต้องการแค่ความถูกต้อง และสิ่งที่ภูมิใจมากคือการหยิบยกพื้นที่คอร์ริดอร์ หรือ พื้นที่ปลอดภัยของสัตว์สำหรับหลบภัยตามแนวตะแข็บ หากสามารถทำได้จริงจะมีพื้นที่ป่า อีกส่วนหนึ่งที่จะคืนให้ประเทศ
ขณะที่ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ นายธนดล สุวัณณะฤทธิ์ กล่าวว่า ที่ ส.ป.ก.ไปแจ้งความเอาผิด นายชัยวัฒน์ ตาม พ.ร.บ.ปราบปรามการทุจริตฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะใช้เวลาแสวงหาข้อเท็จจจริง 30 วัน ก่อนส่งสำนวนให้ ป.ป.ช. เพื่อเอาผิดตามประมวณกฎหมายอาญา มาตรา 159 เนื่องจากนายชัยวัฒน์เข้าไปดำเนินการถอนหมุด ส.ป.ก. โดยที่เข้าใจว่าเป็นพื้นที่อุทยาน แต่ ส.ป.ก.ไปแจ้งความเอาผิดเพราะ ส.ป.ก.บอกเป็นพื้นที่ของ ส.ป.ก. ดังนั้นนายชัยวัฒน์จะเจตนาหรือไม่อยู่ที่ความตั้งใจ ซึ่ง ป.ป.ช.จะตรวจสอบต่อไป แต่ในระหว่าง 2 หน่วยงานได้ปรับความเข้าใจจนได้ข้อยุติแล้ว
นายชัยวัฒน์ ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า เรื่องแจ้งความเป็นกฏหมายอาญาต้องมีการพิสูจน์ และคาดการณ์ว่า เขาก็ต้องแจ้งความเรา เนื่องจากตนไปถอนหมุดเขามา หากเขาไม่แจ้งก็แสดงว่าหลักนั้นเป็นหลักเถื่อน เป็นหลักเท็จ ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายยื่นหลักฐานมาตัดสินกันไม่ได้ก็ต้องให้คณะกรรมการเป็นคนตัดสินตามหลักฐานที่มี หากตัดสินว่าเป็นพื้นที่ในเขต ส.ป.ก. ตนรับเต็มทั้งเรื่องแจ้งความเท็จ หรือเรื่องอื่นๆ แต่หากอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตนก็จะฟ้องกลับเช่นเดียวกัน ไม่ว่าใครที่สั่งการ
นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า วันนี้จะจบแบบหล่อๆ ไม่ได้ เพราะเหตุที่เกิดขึ้นเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราก็พยายามที่จะสื่อสารมาโดยตลอดแต่ไม่เป็นผล วันนี้ได้ข้อยุติระดับหนึ่ง ซึ่งรออีก 2 เดือนว่าพื้นที่ตรงนี้จะเป็นของใคร ยืนยันว่าหลักฐานเรามีเพียงพอที่จะยืนยันว่าเป็นพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
“ที่บอกว่าจะจบแบบหล่อๆ ไม่ได้ คือจะจบแบบไม่มีใครผิดไม่ได้ งานนี้ต้องมีคนผิดเมื่อเขาไม่ผิด ผมก็ต้องผิด เพราะเราทิ้งตัวแล้ว ไม่ใช่ว่าผมจะเกษียณแล้วทิ้งตัว แต่ผมสู้มาตลอดชีวิต การจะจบโดยไม่มีใครผิดไม่ได้ ใครที่ทำหลักฐานเท็จ ใครออกโฉนดโดยมิชอบต้องมีคนผิดหากเขาไม่ผิด ผมก็ต้องผิด ซึ่งต้องรับผิดชอบการกระทำของตนเองอยู่แล้ว” นายชัยวัฒน์กล่าว
อย่างไรก็ตามภายหลังการแถลงข่าวเลขาฯ ส.ป.ก.ได้เดินเข้าไปพูดคุยกับนายชัยวัฒน์ เรื่องการส่ง Field Book เพื่อตรวจสอบแนวเขตระหว่าง 2 หน่วยงาน ด้วยท่าทางเป็นกันเอง และได้ยกมือไหว้กันหลังการพูดคุยด้วย