อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ชวนเกษตรกรสร้างสมดุลในดิน ยกระดับคุณภาพผลผลิต

อธส2
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงประเด็นความสำคัญของดินต่อการเพาะปลูกพืช ว่า “ในโลกของเรามีธาตุอาหารทั้งที่อยู่ในอากาศ ในน้ำ และในดิน อยู่หลากหลายชนิด กว่า 92 ชนิดด้วยกัน โดยมีธาตุอาหารที่พืชต้องการอยู่ถึง 17 ชนิด ซึ่งมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ธาตุอาหารบางชนิด หากใส่ปริมาณมากเกินไปทำให้พืชแสดงอาการขาดจุลธาตุบางชนิดได้ รวมทั้ง หากดินมีค่า pH ต่ำกว่า 5.5 หรือดินกรด อาจทำให้ธาตุอาหารบางชนิดละลายออกมามากเกินไปจนเป็นพิษกับพืชได้ ดังนั้น หากเกษตรกรมีการตรวจวิเคราะห์ดิน ปรับค่า pH ของดินให้เหมาะสม เพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดิน ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน จะทำให้ดินมีโครงสร้างดีขึ้น เกิดสมดุลในดินทั้งด้านกายภาพ เคมี และชีวภาพ พืชจะสามารถใช้ธาตุอาหารได้อย่างเต็มศักยภาพ นำสู่การลดต้นทุนการผลิต เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากผลผลิตที่มีคุณภาพ”

ดิน ศดปช 1

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ด้วยความสำคัญของดินและปุ๋ย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการทำการเกษตรให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพ ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานที่ผ่านมาของกรมส่งเสริมการเกษตรที่ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ตั้งแต่ปี 2557 โดยปัจจุบันมี ศดปช. ครบทุกอำเภอใน 77 จังหวัด รวมจำนวน 882 ศูนย์ มีสมาชิกมากกว่า 17,640 ราย และมี ศดปช. เครือข่าย เพิ่มขึ้นตามความต้องการของพื้นที่ รวมจำนวน 1,106 ศูนย์ มีสมาชิก ศดปช. เครือข่าย รวมทั้งสิ้น 33,122 ราย ทำหน้าที่เป็นกลไกในการขยายผลการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องเพื่อลดต้นทุนการผลิตโดยเกษตรกรเพื่อเกษตรกร โดย ศดปช. ทุกศูนย์ เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยของชุมชน ให้บริการตรวจวิเคราะห์ดินด้วยชุดตรวจสอบ N P K และ pH ในดินแบบรวดเร็ว (Soil test kit) พร้อมให้คำแนะนำการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยเบื้องต้น รวมทั้งให้บริการผสมปุ๋ย จัดหาปุ๋ยคุณภาพดี ในราคาที่เหมาะสม เพื่อให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้องเหมาะสมกับปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่ในดิน และความต้องการของพืช เป็นวิธีการใช้ปุ๋ยแบบแม่นยำเฉพาะพื้นที่ เกษตรกรจึงสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง โดยมีคณะกรรมการ ศดปช. ซึ่งเป็นเกษตรกร บริหารจัดการกิจกรรมภายในศูนย์ร่วมกัน ในขณะที่เจ้าหน้าที่จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ให้คำปรึกษาแนะนำ ทั้งนี้ ผลการสนับสนุนความรู้ให้แก่เกษตรกรสมาชิก ศดปช. ในปีที่ผ่านมานั้น ส่งผลให้

ดิน ศดปช 3

1) เกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักการ 4 ถูก คือ ถูกสูตร/ชนิด ถูกอัตรา ถูกเวลา และถูกวิธี รวมทั้งมีการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ใช้ปุ๋ยแบบผสมผสาน (ใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ)

2) เกษตรกรนำเทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินไปใช้ในพื้นที่ตนเองคิดเป็นร้อยละ 46.7 และได้รับผลผลิตเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 ลดต้นทุนปุ๋ยเคมีได้เฉลี่ยร้อยละ 10.2 โดยอ้อยสามารถลดต้นทุนได้มากที่สุด ถึงร้อยละ 53.2 รองลงมาคือ ข้าว ร้อยละ 36.8

ดิน ศดปช 2

3) เกษตรกรมีการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์ ได้จำนวน 4.3 ล้านตัน ได้แก่ ปุ๋ยคอก 839,809 ตัน ปุ๋ยหมัก 331,162 ตัน ปุ๋ยพืชสด 386,367 ตัน ไถกลบตอซังข้าว 2,738,386 ตัน คิดเป็นธาตุอาหาร N จำนวน 48,615 ตัน ธาตุอาหาร P จำนวน 41,616 ตัน และ ธาตุอาหาร K จำนวน 56,593 ตัน

ดิน ศดปช 4

ทั้งนี้ หากเกษตรกรท่านใดสนใจเรียนรู้ด้านการจัดการดินและการใช้ปุ๋ย หรืออยากใช้บริการของ ศดปช. สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดหรือสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน และกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร หมายเลขโทรศัพท์ 0 2955 1515

ดิน ศดปช 6
ดิน ศดปช 5