ศรชล. จับมือสรรพสามิต ลงนาม MOU เชื่อมต่อ Big Data นําระบบสำแดงข้อมูลตัวตนอัตโนมัติมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลโครงการจําหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร หรือ โครงการน้ำมันเขียว และลดการรั่วไหลของน้ำมันออกนอกระบบการจัดเก็บภาษี
วันที่ ๖ ก.พ.๖๗ พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม รอง ผอ.ศรชล./ผบ.ทร. และ นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต ร่วมพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทางทะเล (MOU) ในการนําระบบสำแดงข้อมูลตัวตนอัตโนมัติ (Automatic Identification System: AIS) มาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลโครงการจําหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักร หรือ โครงการน้ำมันเขียว ที่ต้องติดตามเรือสถานีบริการ ๔๗ ลำ เรือบรรทุกน้ำมัน ๔ ลำ และ เรือประมงที่เข้าร่วมโครงการอีก ๖,๙๖๓ ลำ รวมถึงเรือบรรทุกน้ำมันที่ส่งออกนอกราชอาณาจักรที่กรมสรรพสามิตต้องติดตาม ประมาณเดือนละ ๕๐ ลำ
ตลอดจนการแลกเปลี่ยนการข่าวกรอง (Intelligence) ข่าวสาร (Information) และข้อมูล (Data) ในระบบ Big Data พร้อมรหัสเข้าระบบตรวจสอบและติดตามเรือขนส่งน้ำมัน (Real Time Surveillance: RTS) เพื่อการลดการรั่วไหลของน้ำมันออกนอกระบบการจัดเก็บภาษีให้เป็นไปตามมติ ครม. ในการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม( Illegal Unreported and Unregulated Fishing :IUU) ในระดับสากล
นอกเหนือจากการผนึกกำลังร่วมกันดังกล่าว ยังมีวัตถุประสงค์ที่มุ่งพัฒนากลไกและลดช่องว่างของข้อมูลข่าวสารในด้านขีดความสามารถในการรับรู้เท่าทันสถานการณ์ทางทะเล (Maritime Domain Awareness: MDA) ได้แก่ สถานการณ์ความมั่นคงทางทะเลภายในภูมิภาคในประเทศและในพื้นที่การกระทำผิดกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.๒๕๖๐ ในทะเล และภัยคุกคามทางทะเลรูปแบบใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อการรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติทางทะเลระหว่าง ศรชล. กับ สรรพสามิต รวมทั้งมุ่งบูรณาการข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน เพื่อนำมาวิเคราะห์ ประเมินค่า และแสดงภาพสถานการณ์รวม (Common Operating Picture: COP) และนําไปใช้ในการติดตามสถานการณ์ต่าง ๆที่ เกิดขึ้นในทะเลและใช้ประกอบการตัดสินใจในการปฏิบัติการทั้งการป้องปรามและการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปอย่างถูกต้องและทันเวลา
การจัดทำ MOU ระหว่าง ศรชล. และ กรมสรรพสามิต ในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องตามแผน ความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล พ.ศ.๒๕๖๖ – ๒๕๗๐ ที่ ศรชล. รับผิดชอบในการส่งเสริมความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางทะเลในรูปแบบต่าง ๆ ระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อพัฒนาและสร้างกลไกให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมถึงสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และเรียนรู้แนวทางการปฏิบัติที่จะนำมาปรับใช้กับบริบทของอาชญากรรมทางทะเลของไทย
“ศรชล. เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาคเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศชาติและประชาชน”