คณะรัฐมนตรีรับทราบสถานการณ์น้ำระหว่างวันที่ 16 – 21 มกราคม 2567 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและเตรียมแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำใน แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกงรวมถึงเร่งสร้างการรับรู้ให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพต่อไปตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอ
สาระสำคัญและข้อเท็จจริง
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้บูรณาการข้อมูลที่เกี่ยวข้องและขอสรุปสถานการณ์น้ำระหว่างวันที่ 16 – 21 มกราคม 2567 มีดังนี้
1. สภาพอากาศและการคาดการณ์ฝน
ปัจจุบันพบว่าปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังแรงจะอ่อนลงเป็นเอลนีโญกำลังปานกลาง ในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายนด้วยความน่าจะเป็นร้อยละ 73 หลังจากนั้นมีโอกาสที่จะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะลานีญา สภาพอากาศ บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อน ทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบนมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า ในขณะที่ลมตะวันตกในระดับบนพัดปกคลุมภาคเหนือ ทำให้ภาคเหนือตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาว
สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยตอนล่างและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับในช่วงวันที่ 23 – 25 ม.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงได้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ตอนบน
ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ และอุณหภูมิจะลดลงกับมีลมแรง จากนั้นบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้เริ่มกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ยังคงทำให้ประเทศไทยตอนบนมี อากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณตอนล่าง
2. สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ และการคาดการณ์
(1) สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำภาพรวมประเทศ
สถานการณ์แหล่งน้ำทั่วประเทศ ปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 21 มกราคม 2567) มีปริมาณน้ำ 58,995 ล้านลูกบาศก์เมตร (72%) น้อยกว่าปี 2566 จํานวน 4,160 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำใช้การ 34,786 ล้านลูกบาศก์เมตร (60%) มีอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อย (ปริมาณน้ำ ต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักต่ำสุด (Lower Rule Curve)) 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ อ่างเก็บน้ำกระเสียว และอ่างเก็บน้ำคลองสียัด
(2) การคาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง
ต้นฤดูฝน ปี 2567 (วันที่ 1 พ.ค. 67) จะมีปริมาณน้ำ 19,661 ล้าน ลบ.ม. (47%) เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 ที่มีปริมาณน้ำใช้การ 17,787 ล้าน ลบ.ม. มากกว่า 1,874 ล้าน ลบ.ม.
ต้นฤดูแล้ง ปี 2567/68 (วันที่ 1 พ.ย. 67) จะมีปริมาณน้ำ 32,835 ล้าน ลบ.ม. (69%) เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 ที่มีปริมาณน้ำใช้การ 32,849 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่า 14 ล้าน ลบ.ม.
(3) การคาดการณ์ปริมาณน้ำที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยปี 2567 (ปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำต่ำสุด Lower Rule Curve) ภาคเหนือ 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำกิ่วลมและอ่างเก็บน้ำทับเสลา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยหลวงและอ่างเก็บน้ำสิรินธร ภาคตะวันตก 3 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำศรีนครินทร์ อ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน และอ่างเก็บน้ำปราณบุรี ภาคตะวันออก 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชลและอ่างเก็บน้ำคลองศรียัด ภาคใต้ 1 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำรัชชประภา
3. สถานการณ์แม่น้ำโขง
สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยวิกฤต และมีแนวโน้มทรงตัว
4. คุณภาพน้ำ
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานีสะพานพระพุทธยอดฟ้าอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังความเค็มในการผลิตน้ำประปา
ในส่วนของแม่น้ำบางปะกง บริเวณสถานีบางกระเจ็ดและบริเวณสถานีเขื่อนบางปะกง และแม่น้ำท่าจีน บริเวณสถานีอ่างทอง ค่าความเค็มอยู่ในเกณฑ์วิกฤตสำหรับการเกษตร