วันที่ 15 ธันวาคม พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารสำนักงานศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ พร้อมด้วย นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร คณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร และแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมในพิธี โดยมีนายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวให้การต้อนรับ ณ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดตาก
โดยในช่วงเช้าได้มีการประกอบพิธีสงฆ์เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และการแสดงศิลปวัฒนธรรมภาคเหนือจากวิทยาลัยนอร์ทเทิร์นตากและโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 55 จังหวัดตาก
จากนั้นในช่วงบ่าย พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง ครั้งที่ 3/2566 ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ เพื่อประชุมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์การดัดแปรสภาพอากาศอาเซียน ความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างศูนย์ปฏิบัติการภาคใต้ตอนบนและอาคารพิพิธภัณฑ์พระบิดาแห่งฝนหลวง การเตรียมความพร้อมและการบริหารจัดการอากาศยาน การแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพิ่มเติม การขอใช้พื้นที่ท่าอากาศยานตากเพื่อประโยชน์ในกิจการกรมฝนหลวงและการบินเกษตร การแต่งตั้งกองทัพบกเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวงและความก้าวหน้าการดำเนินการจัดตั้ง
“มูลนิธิฝนหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์” การรายงานข้อมูลสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา การรายงานสถานการณ์น้ำในปัจจุบันและการบริหารจัดการน้ำจากกรมชลประทาน แผนนอกจากนี้ยังมีการรับฟังรายงานผลการดำเนินงานการปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2566 โดยในส่วนของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ (ตอนบน) ปฏิบัติการฝนหลวงในปี 2566 รวมทั้งสิ้น 152 วัน มีฝนตก 108 วัน คิดเป็น 71.05% จำนวนชั่วโมงบินรวม 1,285:42 ชั่วโมง ใช้สารฝนหลวง จำนวน 566.15 ตัน น้ำจำนวน 163,700 ลิตร พลุ AgI จำนวน 642 นัด และพลุ CaCl2 จำนวน 52 นัด ปฏิบัติภารกิจยับยั้งความรุนแรงของการเกิดพายุลูกเห็บ ในช่วงระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 31 พฤษภาคม พ.ศ.2565 โดยใช้เครื่องบินโจมตีแบบที่ 7 (Alpha-Jet) จำนวน 1 ลำ ในระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2566 และเครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตรชนิด Super King Air 350 (SKA) จำนวน 1 ลำ บริเวณพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ทั้งหมดจำนวน 13 วัน เที่ยวบิน 15 เที่ยวบิน มีพื้นที่ได้รับการช่วยเหลือทั้งหมด 9 จังหวัด 24 อำเภอ และรายงานแผนการปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2567 โดยมีภารกิจหลักเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า (ลดความหนาแน่นของหมอกควันและลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 รวมทั้งเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับป่าไม้) ภารกิจการยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง การเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อสำรองน้ำเก็บกักตุนให้เขื่อนต่าง ๆ ซึ่งจะมีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศ จำนวน 16 หน่วยฯ เพื่อปฏิบัติการตลอดทั้งปีอีกด้วย
สำหรับการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจัดสร้างด้วยเงินงบประมาณ 84.9 ล้านบาทและได้รับความอนุเคราะห์การให้ใช้พื้นที่จากท่าอากาศยานตาก โดยเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น พื้นที่ 1,221 ตารางเมตร ใช้เป็นอาคารสำนักงาน เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคเหนือและการปฏิบัติภารกิจตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกทั้งเพื่อใช้เป็นที่ทำการประสานงานด้านนโยบาย มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการของประเทศ ปฏิบัติการทำฝนเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่เกษตร ป่าไม้ การเติมน้ำต้นทุนให้กับอ่างกักเก็บน้ำและเขื่อนต่าง ๆ ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกร ประชาชนและผู้ใช้น้ำทั่วไป รวมทั้งพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติอื่น ๆที่เกี่ยวข้อง เป็นการบริหารจัดการปฏิบัติการฝนหลวงในเชิงพื้นที่ เพื่อขยายพื้นที่การปฏิบัติการฝนหลวงให้ครอบคลุมสอดคล้องกับความต้องการน้ำในพื้นที่ภาคเหนือที่ประสบภาวะภัยแล้งรุนแรงเพิ่มมากขึ้นทุกปีและเตรียมความพร้อมสำหรับเป็นศูนย์การบินดัดแปรสภาพอากาศระดับสากลในอนาคต เพื่อเพิ่มศักยภาพ
ในการปฏิบัติการฝนหลวงให้เกิดผลสัมฤทธิ์ยิ่งขึ้นตามพระราชปนิธานแห่งองค์พระบิดาแห่งฝนหลวงและอันจะเป็นการดำเนินงานตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการฝนหลวง ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรต่อไป