กระทรวงเกษตรฯ ขับเคลื่อนโครงการ Thai Rice NAMA เดินหน้าส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวด้วยเทคโนโลยี 4 ป. หนุนเกษตรกรทำนาลดก๊าซเรือนกระจก ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ พร้อมเตรียมเสนอ Thai Rice GCF เพิ่มศักยภาพของชาวนาในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมั่นคง
นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมหารือกับ ดร.แมทเทียส บิกเคล(Dr. Matthias Bickel) ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการด้านการเกษตรและอาหาร องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประเทศไทย โดยมี ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย ผู้แทนกรมการข้าว และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เข้าร่วมหารือ
รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประเทศไทย ได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai Rice NAMA) และหารือการพัฒนาโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวที่เท่าทันต่อสภาพภูมิอากาศ (Thai Rice GCF)
ซึ่งการดำเนินงานโครงการ Thai Rice NAMA ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคกลาง (ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทองพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และสุพรรณบุรี) มีความก้าวหน้าในการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวด้วยเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยกลุ่มเทคโนโลยีหลักประกอบด้วย 4 ป. ประกอบด้วย
(1) การจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้งในการปลูกข้าว ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญที่มีศักยภาพลดการปล่อยก๊าซมีเทนได้สูงถึง 70% และไม่มีผลทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำลง
(2) เทคโนโลยีการปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ (Laser land levelling : LLL) ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำในนาข้าวแบบเปียกสลับแห้งซึ่งทั้งสองเทคโนโลยีนี้จะลดปริมาณการใช้น้ำลงได้ประมาณ 40% รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพของปุ๋ยที่สามารถกระจายได้อย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งแปลงและทำให้ได้ผลผลิตสูงขึ้น
(3) เทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินที่จะช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยลงได้ประมาณ 20% จากที่ใช้โดยทั่วไป
(4) การส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจให้เป็นทางเลือกในการลดการเผาตอซังและฟางข้าวเพื่อ. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดปริมาณ PM 2.5 ในอากาศ ซึ่งทั้ง 4 เทคโนโลยีข้างต้นนอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและจะเกิดผลประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยการผลิต ที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตและทำให้ชาวนามีรายได้สูงขึ้นด้วยเช่นกัน
นายสมชวน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการ Thai Rice NAMA จะสิ้นสุดลงในปี 2566 ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าว และ GIZ ได้มีการพัฒนาโครงการ Thai Rice GCF เพื่อเสนอต่อGreen Climate Fund; GCF เพื่อขยายผลการทำนาที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มศักยภาพการปรับตัว (adaptation) ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate resilient) เป้าหมาย 15 จังหวัด
โดยโครงการฯนี้จะเป็นโอกาสสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพของชาวนาในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมั่นคง รวมทั้งขยายพื้นที่การทำนาแบบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะก๊าซมีเทนได้อย่างยั่งยืน
การประชุมฯ ในครั้งนี้ เป็นการหารือเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนาข้อเสนอโครงการ Thai Rice GCF ได้อย่างสอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศ รวมทั้งการมีส่วนร่วมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการดำเนินงานโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Thai–German Cooperation – Energy, Mobility and Climate : TGC-EMC) ในภาคส่วนชีวมวล
ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้ภาคเกษตรกรเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศตามเจตนารมณ์ที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้ประกาศใน COP26 ให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) ต่อไป