นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ร่วมกับนายกรัฐมนตรี เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อำเภอบางระกำ อำเภอพรหมพิราม รวมทั้งการแก้ไขปัญหาน้ำประปาในเขตเทศบาลนครพิษณุโลก
โดยมีผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ ณ จังหวัดพิษณุโลก ว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาและการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบใน จ.พิษณุโลก ที่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง และเตรียมเร่งแก้ปัญหาอย่างบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและภูมิภาค
โดยในช่วงเช้าได้รับฟังปัญหาและแนวทางแก้ไขระบบผลิตและระบบจ่ายน้ำประปาในเขตเทศบาลนครพิษณุโลก เกี่ยวกับระบบท่อส่งน้ำที่มีอายุการใช้งานกว่า 70 ปี เกิดการแตกรั่วบ่อยครั้งเป็นเหตุให้สูญเสียน้ำอยู่ที่ 50% ทำให้น้ำประปามีปริมาณไม่เพียงพอ เกิดปัญหาน้ำไหลอ่อนและน้ำขุ่นแดง
อีกทั้งมีถังสำรองน้ำในปริมาณจำกัด ทำให้ไม่สามารถให้บริการน้ำประปาแก่ประชาชนได้เต็มประสิทธิภาพ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายกรมชลประทานประสานหน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างบูรณาการ เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาน้ำประปา ป้องกันปัญหาด้านการใช้น้ำที่อาจส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพทำเกษตรกรกรรมและภาคอุตสาหกรรม
จากนั้นได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำ ณ บึงตะเครง อ.บางระกำ และรับฟังข้อเสนอแนะ รวมทั้งความต้องการของเกษตรกรในการเพิ่มศักยภาพการหน่วงน้ำในพื้นที่โครงการบางระกำโมเดล โดยจะเร่งรัดแผนการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ ซ่อมแซมสิ่งสาธารณูปโภค ปรับปรุงอาคารชลประทาน ปรับปรุงยกระดับถนน ฯลฯ และส่งเสริมการประกอบอาชีพประมง หรืออื่น ๆ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เสริมในช่วงการหน่วงน้ำ ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่หน่วงน้ำได้ 400 ล้าน ลบ.ม. ในพื้นที่ 265,000 ไร่ ทำให้ประชาชนในพื้นที่โครงการสามารถใช้ชีวิตอยู่กับน้ำในช่วงการหน่วงน้ำได้อย่างมั่นคง และปลอดภัย
สำหรับโครงการบางระกำโมเดล เป็นโครงการที่กรมชลประทานได้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่สาธารณะซึ่งเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่แม่น้ำยมฝั่งขวาของอำเภอบางระกำ จ.พิษณุโลก โดยการพัฒนาแก้มลิง บึงตะเครง-บึงขี้แร้ง-บึงระมาณ สามารถเก็บกักน้ำได้รวม 30.74 ล้านลูกบาศก์เมตร ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2558 จากความต้องการของประชาชนในการปรับตัวนำมาปรับปฏิทินการเพาะปลูก และแผนการบริหารจัดการน้ำนำมาสู่นโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ขณะเดียวกัน ได้รับฟังปัญหาการระบายน้ำและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ทั้งลุ่มน้ำน่านและลุ่มน้ำยม โดยได้ขอรับการสนันสนุนงบประมาณหลายโครงการ ประกอบด้วย
1) โครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำน่าน จ.พิษณุโลก
2) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งสาน อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์หลายประการ อาทิ
1) สามารถเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่ออุปโภค-บริโภค และการเกษตร ป้องกันภัยแล้งและอุทกภัยอย่างยั่งยืน
2) มีเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ
3) การใช้ชีวิตของประชาชนที่อยู่ใกล้แม่น้ำและคันกั้นน้ำ มีความมั่นคงและปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน
และ 4) รักษาระบบนิเวศทางด้านทรัพยากรสัตว์น้ำ และความมั่นคงของตลิ่ง เป็นต้น