นักวิชาการชี้รัฐบาลต้องเดินหน้าลงทุนระบบชลประทานและการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบเพิ่มเติมโดยโยกเม็ดเงินจากการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์
รศ. ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวถึง งบประมาณปี พ.ศ. 2566 ว่า การจัดทำงบประมาณปี พ.ศ. 2566 นั้นต้องเป็นการจัดทำงบประมาณบนฐานความคิดใหม่ วิธีการใหม่ ยุทธศาสตร์ใหม่
เช่น การเดินหน้าลงทุนระบบชลประทานและการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบเพิ่มเติมมีความสำคัญต่อประเทศและเศรษฐกิจอย่างมาก ระบบชลประทานที่ดีจะช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และ ทำให้เราสามารถทำการเกษตรได้ทั้งปี ประเทศไทยจะได้ไม่สูญเสียโอกาสในการส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรในช่วงวิกฤตการณ์อาหารโลกในขณะนี้
ประเทศของเรานั้นมีปริมาณน้ำฝนประมาณ 780,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี มีความต้องการใช้น้ำในประเทศ 150,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี มีการบริหารจัดการน้ำและกักเก็บน้ำในระบบชลประทานได้ประมาณ 100,000 กว่าล้านลูกบาศก์ ที่เหลือต้องมีการพัฒนระบบชลประทานเพิ่มเติมให้รองรับความต้องการอีกไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
งบที่จัดสรรในปี พ.ศ. 2566 จึงไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ หากต้องการให้สามารถทำเกษตรกรรมได้ทั้งปีในเกือบทุกพื้นที่ของประเทศ ต้องนำปริมาณน้ำฝนที่ปล่อยทิ้งลงทะเลทุกปีหลายแสนล้านลูกบาศก์เมตรเข้าสู่ระบบชลประทาน และ แม่น้ำคูคลองของเรา
เสนอให้โยกงบประมาณโยกเม็ดเงินจากการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์มาใช้ในการลงทุนระบบชลประทานและการบริหารจัดการน้ำเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังสามารถตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็นได้อีกมาก เช่น ตัดงบทดสอบ GT 200 เนื่องจากมีข้อยุติแล้วว่าเป็นเครื่องมือทำขึ้นมาเพื่อหลอกขายให้กองทัพและหน่วยราชการไทยและมีหลักฐานเชื่อได้ว่ามีการทุจริตคอร์รัปชันจนนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เป็นต้น