นักวิทยาศาสตร์จีน ผลิต”โอเลฟินส์”จากถ่านหินสำเร็จ เตรียมพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมเคมีมูลค่าหลายแสนล้าน
“โอเลฟินส์” อาจจะเป็นชื่อที่ไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไรนัก แต่มันอยู่ในชีวิตของเราเป็นจำนวนมหาศาล “โอเลฟินส์”เป็นวัตถุดิบของพลาสติก ทั้งยางรถยนต์ แผ่นป้าย รองเท้า เสื้อผ้า ก็ล้วนแต่มีส่วนประกอบของโอเลฟินส์รวมอยู่ด้วย
ด้วยการศึกษาวิจัยการนำถ่านหินมาผลิตเป็นโอเลฟินส์โดยเหล่านักวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิจัยฟิสิกส์เคมีต้าเหลียน สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน มานานหลายสิบปี ผลงานของพวกเขาได้ออกจากห้องทดลอง และก้าวสู่ท้องตลาด ในจำนวนนี้ ก็มี หลิว จงหมิน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยฟิสิกส์เคมีต้าเหลียน และบัณฑิตสภาวิศวกรรมแห่งชาติจีนรวมอยู่ด้วย
หลิว จงหมิน เข้ามาทำงานในสถาบันแห่งนี้เมื่อปี 1983 โดยเริ่มการค้นคว้าโนโลยีใหม่ ๆ สำหรับการผลิตโอเลฟินส์ตั้งแต่นั้นมา ซึ่งปกติแล้ว วัตถุดิบหลักในการผลิตโอเลฟินส์ มักจะเป็นน้ำมัน หลิว จงหมินกล่าวว่า ทรัพยากรถ่านหินของจีนค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นเขาจึงศึกษาการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่มาผลิตเป็นสินค้าซึ่งเป็นที่ต้องการมาโดยตลอด
การผลิตโอเลฟินส์จากถ่านหิน จำเป็นต้องใช้ถ่านหินเป็นวัตถุดิบในการสังเคราะห์เมทานอลก่อน แล้วจึงผลิตโอเลฟินส์ชนิดต่าง ๆ เช่น เอทิลีนและโพรพิลีน หลังจากการคิดค้นมานานหลายปี ทีมงานของหลิว จงหมิน และพันธมิตร ได้ประสบความสำเร็จในการทดลองเชิงอุตสาหกรรมในการใช้เมทานอลมาผลิตเป็นโอเลฟินส์เป็นครั้งแรกของโลก โดยสามารถแปลงเมทานอลได้วันละ 75 ตัน
โรงงานผลิตโอเลฟินส์จากเมทานอลในเมืองเป่าโถว เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ได้กลายเป็นโรงงานอุตสาหกรรมผลิตโอเลฟินส์จากเมทานอล ขนาดใหญ่แห่งแรกของโลก หลังจากนี้ หลิว จงหมิน ก็จะนำทีมในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรุ่นที่สองและสามจนเสร็จสมบูรณ์ จนเกิดเป็นอุตสาหกรรมเคมีถ่านหินที่มีมูลค่าการผลิตหลายแสนล้าน
ขอบคุณข้อมูล/ภาพ จาก : CMG (China Media Group)