กรมส่งเสริมการเกษตรเผยผลมาตรการควบคุมและป้องกันทุเรียนอ่อนภาคตะวันออก ปี 2565 ทุกภาคส่วนยอมรับ “เป็นแนวทางที่ดีในการป้องปรามทุเรียนอ่อน” การันตีคุณภาพทุเรียนไทย
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับหน่วยงานภาคีทั้งภาครัฐและเอกชน ประกาศใช้มาตรการควบคุมและป้องกันทุเรียนอ่อนภาคตะวันออก ปี2565 ตลอดช่วงฤดูการผลิต
โดยกำหนดวันเริ่มเก็บเกี่ยวทุเรียนภาคตะวันออก ปี 2565 ดังนี้
พันธุ์กระดุม วันที่ 20 มีนาคม 2565
พันธุ์ชะนีและพันธุ์พวงมณี วันที่ 10 เมษายน 2565
พันธุ์หมอนทองและพันธุ์ก้านยาว วันที่ 25 เมษายน 2565
เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพให้กับผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศให้รู้จักการเลือกซื้อทุเรียนในช่วงเวลาที่เหมาะสม ตลอดจนเป็นต้นแบบการดำเนินงานให้แก่ภูมิภาคอื่นที่มีพื้นที่ปลูกทุเรียนเพื่อเป็นการค้าในลักษณะเดียวกัน ด้วยมูลค่าการส่งออกทุเรียนผลสดที่สามารถสร้างรายได้มหาศาลเข้าสู่ประเทศ เป็นจำนวนกว่าหนึ่งแสนล้านบาทในปี 2564 และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่หลายๆประเทศโดยรอบ ก็มีการเร่งรัดพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและคุณภาพสินค้าทุเรียน ขึ้นมาแข่งขันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด ในขณะที่ทุเรียนไทยกลับประสบปัญหาการตัดทุเรียนอ่อนด้อยคุณภาพออกจำหน่ายในช่วงต้นฤดูการผลิตที่ผลผลิตยังออกน้อยและมีมูลค่าสูงในตลาด ทำให้ผู้บริโภคไม่มั่นใจในคุณภาพของทุเรียนไทย
ดังนั้น หากไม่มีมาตรการใดๆ ขึ้นมาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในอนาคตจะก่อให้เกิดควาเสียหายต่อทุกธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานทุเรียนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในปีนี้กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้ดำเนินโครงการศึกษาและประเมินผลการดำเนินงานตามมาตรการควบคุมและป้องกันทุเรียนอ่อนภาคตะวันออก ประจำปีการผลิต 2565 เพื่อประเมินผลภาพรวมของมาตรการดังกล่าวในพื้นที่ภาคตะวันออก จึงกำหนดพื้นที่ศึกษาในจังหวัดจันทบุรีเนื่องจากมีพื้นที่ปลูกและผลผลิตทุเรียนสูงที่สุดในเขตภาคตะวันออก รวมถึงเป็นศูนย์กลางการค้าทุเรียนของภาคตะวันออกด้วยเช่นกัน
จากการศึกษาพบว่า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่อุปทานทุเรียนทั้ง 5 กลุ่ม ได้แก่ เกษตรกร/มือตัดทุเรียน โรงคัดบรรจุ ผู้ประกอบการค้าปลีก ผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่ชุดตรวจเฉพาะกิจ มีความเห็นตรงกันว่าเป็นมาตรการที่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนในระดับภาค เพราะทำให้ทราบระยะเวลาที่เหมาะสม เป็นการสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายว่าการเก็บเกี่ยวทุเรียนในช่วงเวลาที่กำหนดจะทำให้ได้ทุเรียนที่แก่ และสามารถตรวจพิสูจน์ตามหลักเกณฑ์ทางวิชาการได้ นั่นคือการตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในผลทุเรียนตัวอย่างก่อนที่เกษตรกรหรือมือตัดทุเรียนจะตัดจำหน่าย เพื่อให้ผลผลิตที่ได้มีความแก่พอดีตามกำหนดในมาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ.3 – 2556 ทุเรียน)
ซึ่งการสุ่มตรวจผลผลิตทุเรียนจากแผงค้าปลีกในจังหวัดจันทบุรีที่ตัดในวันที่กำหนดแต่ละพันธุ์ พบว่า ค่าเฉลี่ยเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งของเนื้อทุเรียนทั้ง 5 สายพันธุ์ สูงกว่าหรือเท่ากับค่ามาตรฐานที่กำหนด ได้แก่พันธุ์กระดุมทอง 27% พันธุ์ชะนีและพันธุ์พวงมณี 30% พันธุ์หมอนทอง 32% ส่วนพันธุ์ก้านยาวยังไม่มีการกำหนดค่าเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในมาตรฐานสินค้าเกษตรดังกล่าว จึงอนุโลมตามพันธุ์หมอนทองที่ 32%
อย่างไรก็ตาม เมื่อทำการสอบถามประชากรกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้บริโภคภายในประเทศ ผลปรากฏว่าพบทุเรียนอ่อนในฤดูการผลิตนี้เพียงร้อยละ 15 ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากทุเรียนพันธุ์หมอนทองและพันธุ์ก้านยาวที่มีช่วงระยะเวลาเก็บเกี่ยวหลายรุ่น ดังนั้น การกำหนดวันเก็บเกี่ยวเพียงวันเดียวอาจทำให้ผลผลิตที่ออกก่อนมีความคลาดเคลื่อนไป อีกทั้งการดำเนินงานตามมาตรการฯ จะต้องเข้าไปกำกับดูแลและใช้กติกาในการควบคุมคุณภาพสินค้าทุเรียนผ่านขั้นตอนการส่งออก ในขณะที่การค้าทุเรียนภายในประเทศยังไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายและบทลงโทษได้อย่างจริงจัง จำเป็นต้องมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานให้ส่งผลครอบคลุมถึงผลผลิตทุเรียนในประเทศในฤดูการผลิตปีถัดไป
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากกระบวนการส่งเสริมและให้ความรู้แก่เกษตรกรและผู้รับจ้างตัดทุเรียนให้มีความรู้ความชำนาญในการผลิตทุเรียนคุณภาพแล้ว ทุกภาคส่วนต้องเห็นความสำคัญและร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น การดำเนินงานจึงจะประสบผลสำเร็จ นอกจากนี้แล้ว กรมส่งเสริมการเกษตรยังให้ความสำคัญในการผลักดันสินค้าไม้ผลหลายชนิดไม่เพียงแต่ทุเรียน ให้เข้าสู่การรับรองมาตรฐานสินค้า GI ซึ่งจะเป็นการสร้างแบรนด์ของท้องถิ่นและเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า ปรับเปลี่ยนจากการแข่งขันกับสินค้าทั่วไปในท้องตลาด สู่ตลาดสินค้าอัตลักษณ์ที่มีฐานลูกค้าโดยเฉพาะได้อีกด้วย
ทั้งนี้ โครงการศึกษาและประเมินผลการดำเนินงานตามมาตรการควบคุมและป้องกันทุเรียนอ่อนภาคตะวันออก ประจำปีการผลิต 2565 เป็นการศึกษาแบบมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่การผลิต ได้แก่ เกษตรกรชาวสวนทุเรียน ผู้รับจ้างตัดทุเรียน ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุทุเรียน ผู้ประกอบการร้านค้าผลไม้รายย่อย ผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจในการลงพื้นที่ตรวจสอบทุเรียนอ่อนในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ผ่านกระบวนการอภิปรายกลุ่มในทุเรียน 5 สายพันธุ์หลัก ได้แก่ พันธุ์กระดุม ชะนี พวงมณีหมอนทอง และพันธุ์ก้านยาว รวมถึงการสุ่มสำรวจตัวอย่างสินค้าทุเรียนจากร้านค้าปลีกที่ผลผลิตมีการเก็บเกี่ยวหลังจากวันที่ประกาศเก็บเกี่ยวในแต่ละพันธุ์ เพื่อนำผลที่ได้มาหาแนวทางการปรับปรุงการดำเนินงานในปีต่อไป