โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ยินดียูเนสโกรับรอง โคราชจีโอพาร์ค เป็นอุทยานธรณีโลก (UNESCO Global Geopark) ทำให้โคราชเป็นเมืองที่ 4 ของโลกที่มีดินแดนแห่ง 3 มงกุฎของยูเนสโก ในจังหวัดเดียวกัน
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยินดีที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) รับรองให้ โคราชจีโอพาร์ค (KHORAT Geopark) จังหวัดนครราชสีมา เป็นอุทยานธรณีโลก (UNESCO Global Geopark) เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 ถือเป็นอุทยานธรณีโลกแห่งที่ 2 ของประเทศไทย และทำให้ไทยสร้างอีกประวัติศาสตร์ จังหวัดนครราชสีมา เป็นเมืองแห่ง 3 มงกุฎ หรือ ทริปเปิลคราวน์ (Triple Crown) ถือเป็นเมืองที่ 4 ของโลก ต่อจากอิตาลี เกาหลีใต้ และจีน ที่มีดินแดนแห่ง 3 มงกุฎของยูเนสโกในจังหวัดเดียวกัน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ยูเนสโกได้ลงพื้นที่ตรวจประเมิน เก็บข้อมูลภาคสนาม ใน 17 แหล่งสำคัญของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งผลการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 216 (216th session of the Executive Board) ณ องค์การยูเนสโก สำนักงานใหญ่ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส มีมติรับรองให้ โคราชจีโอพาร์ค เป็น อุทยานธรณีโลก (UNESCO Global Geopark) ซึ่งส่งผลให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นหนึ่งในเมืองประวัติศาสตร์เป็นเมืองแห่ง 3 มงกุฎทางธรรมชาติของยูเนสโก (The UNESCO Triple Crown of Nature) ถือเป็นประเทศที่ 4 ของโลก ต่อจากอิตาลี เกาหลีใต้ และจีน ที่ใน 1 จังหวัด จะมีโปรแกรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของยูเนสโก ครบทั้ง 3 โปรแกรม ได้แก่ 1. มรดกโลก (กลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่) 2. มนุษย์และชีวมณฑล (พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสะแกราช) และ 3. จีโอพาร์คโลก (โคราชจีโอพาร์ค)
ทั้งนี้ โคราชจีโอพาร์ค มีความแตกต่างจากจีโอพาร์คโลก ที่มีอยู่ 177 แห่งทั่วโลก คือ เป็นดินแดนแห่งเควสตาและ ฟอสซิล (Cuesta & Fossil Land) ที่เชื่อมโยงกับระบบนิเวศป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และวิถีชีวิตผู้คนกว่า 4,000 ปี ในพื้นที่ภูมิศาสตร์บริเวณลุ่มน้ำลำตะคองตอนกลางถึงตอนล่าง โดยพัฒนาต่อยอดและขยายจากสถาบันวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ที่ดำเนินโครงการในระยะแรก นับตั้งแต่ปี 2537
“นายกรัฐมนตรีชื่นชมผลการรับรอง และภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่จังหวัดนครราชสีมา ได้รับการรับรองนี้สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ ธรรมชาติ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ของไทยพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นอีกแหล่งศึกษาที่สำคัญให้กับผู้ที่สนใจ โดยเฉพาะซากดึกดำบรรพ์ที่มีคุณค่าเป็นที่รู้จักระดับนานาชาติ ทั้งนี้ ประเทศไทยยังมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์อีกหลายแห่งทั่วประเทศ ซึ่งได้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้วยแล้ว” นายอนุชาฯ กล่าว