นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงการปลูกมันสำปะหลังต้นฤดูฝน กรมส่งเสริมการเกษตรจึงมีคำแนะนำเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังให้ระวังโรคที่สามารถถ่ายทอดได้ทางท่อนพันธุ์ ได้แก่ โรคใบด่างมันสำปะหลังและโรคพุ่มแจ้มันสำปะหลัง เนื่องจากหากเกิดการระบาดในพื้นที่แล้ว จะส่งผลทำให้ปริมาณและคุณภาพของผลผลิตลดลง และกระทบกับรายได้ของเกษตรกรตามมา
สำหรับโรคใบด่างมันสำปะหลัง อาการของโรค คือ ยอดอ่อนและใบแสดงอาการด่างเขียวอ่อนหรือเหลืองสลับเขียวเข้ม ใบมีขนาดเรียวเล็ก หงิกงอ และเสียรูปทรง การแพร่ระบาดมีสาเหตุมาจากท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่เป็นโรคและแมลงหวี่ขาวยาสูบเป็นแมลงพาหะถ่ายทอดเชื้อสาเหตุ
กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
1) เลือกปลูกมันสำปะหลังพันธุ์สะอาดและทนทานโรคใบด่างมันสำปะหลัง ได้แก่ พันธุ์ระยอง 72 เกษตรศาสตร์ 50 ห้วยบง 60
2) ไม่ควรปลูกพันธุ์อ่อนแอต่อโรคใบด่างมันสำปะหลัง ได้แก่ระยอง 11 และ CMR 43-08-89
3) ทำลายต้นมันสำปะหลังที่แสดงอาการของโรคใบด่างโดยวิธีฝังกลบ วิธีใส่ถุง/กระสอบ และวิธีบดสับ
4) กำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบ โดยพ่นสารเคมีกำจัดแมลงตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร
5) เฝ้าระวังพืชอาศัยของแมลงหวี่ขาวยาสูบ เช่น กระเพรา โหระพา ผักชี ฝรั่ง พริก มะเขือ มันฝรั่ง และพืชตระกูลถั่ว รวมทั้งพืชอาศัยของเชื้อไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง เช่น สบู่ดำ ละหุ่ง บริเวณแปลงปลูกมันสำปะหลังด้วย
ส่วนโรคพุ่มแจ้มันสำปะหลัง อาการของโรค คือ ยอดมันสำปะหลังจะแตกพุ่มฝอยมากกว่าปกติใบมีขนาดเล็ก ใบมีสีเหลืองซีด เมื่อลอกเปลือกบริเวณที่แสดงอาการยอดพุ่ม พบว่าใต้เปลือกมีเส้นสีดำ ข้อปล้องสั้นการแพร่ระบาดมีสาเหตุมาจากท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่เป็นโรค โดยมีเพลี้ยจักจั่นแมลงพาหะถ่ายทอดเชื้อ และต้นสาบม่วงเป็นพืชอาศัยของโรค
กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
1) ใช้ท่อนพันธุ์สะอาดจากแหล่งพันธุ์ที่ไม่พบการระบาด
2) ระยะ 1 เดือนหลังปลูก หากพบต้นแตกยอดเป็นพุ่มผิดปกติให้ถอนทิ้ง
3) ระยะ 4 เดือนหลังปลูก หากพบต้นที่แตกยอดพุ่มให้หักกิ่งตามจากบริเวณยอดพุ่มประมาณ 30 เซนติเมตรทิ้ง และพ่นสารกำจัดแมลงให้ทั่วแปลงเพื่อกำจัดเพลี้ยจักจั่นที่เป็นพาหะนำโรค
4) กำจัดวัชพืชทั้งในแปลงและรอบแปลงโดยเฉพาะต้นสาบม่วงที่เป็นพืชอาศัยของโรค
5) บำรุงต้นมันสำปะหลังให้แข็งแรงโดยการให้ปุ๋ย น้ำและปรับปรุงดินอย่างเหมาะสม
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรลงพื้นที่เพื่อสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจ แก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดของโรค และกระทบต่อพื้นที่ปลูกที่มีอยู่ประมาณ 10 ล้านไร่ทั่วประเทศ
หากเกษตรกรมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน