4-9 ธันวาคมที่ผ่านมา สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย และสมาคมวิทยาการวัชพืชนานาชาติร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวัชพืชนานาชาติครั้งที่ 8 (The 8th International Weed Science Congress) ณ โรงแรม Marriott Marquis Queen’s Park สุขุมวิท 22 กรุงเทพฯ
งานนี้มีนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ มาจากทั่วทุกมุมโลกกว่า 400 คน 50 ประเทศ ประเด็นที่มีการพูดคุยกันคือ บทบาทของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงกับการจัดการวัชพืช ชีววิทยาและนิเวศวิทยาของวัชพืชวิธีการกำจัดวัชพืชแบบผสมผสาน การกำจัดวัชพืชโดยใช้และไม่ใช้สารเคมี วัชพืชต้านทานสารกำจัดวัชพืช กลไกการออกฤทธิ์ของสารกำจัดวัชพืช วัชพืชต่างถิ่นรุกราน วัชพืชปรสิต ปัญหาวัชพืชในทวีปเอเชีย การตกค้างของสารเคมีกำจัดวัชพืชในดิน น้ำและสิ่งแวดล้อม การกำจัดวัชพืชด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ การใช้ประโยชน์จากฐานพันธุกรรมวัชพืช ตลอดจนบทบาททางเศรษฐกิจและสังคมที่มีผลต่อวิธีการจัดการวัชพืช
แน่นอนงานนี้พูดคุยกันด้วยข้อมูลวิทยาศาสตร์และงานวิจัยล้วนๆ เรื่องเล่าข่าวเกษตร…ได้รับเชิญไปงานนี้ด้วยเหมือนกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยนั้นถือเป็นบุคคลที่มีบทบาทอย่างยิ่งในงานวิชาการวัชพืชของบ้านเรา ดร.จรรยาถามว่า..สนใจสัมภาษณ์นักวิชาการจากศรีลังกาหรือไม่
แค่ชื่อ “ศรีลังกา” ขุนพิเรนทร์ ก็หูผึ่งแล้วหละครับ มีความอยากรู้และอยากได้ยินจากปาก นักวิชาการศรีลังกา
Professor Buddhi Marambe คือ เป้าหมายของขุนพิเรนทร์ ซึ่งครั้งนี้ได้รับรางวัลเกียรติยศ จากสมาคมวิทยาการวัชพืชโลกด้วย
Prof. Buddhi บอกว่า ให้ดูศรีลังกาเป็นบทเรียน และอย่าเอาอย่างศรีลังกา บทสนทนาที่ขึ้นต้นและแทบจะจบลงในทันที พับผ่าเถอะ ไอ้ขุนสำลักน้ำชา ศรีลังกามีเป้าหมายที่จะทำเกษตรอินทรีย์แบบ 100 % เรื่องนี้ทุกคนรู้กันดี และศรีลังกาชักเข้าชักออกเรื่องการแบนสารเคมีหลายต่อหลายครั้ง ที่หนักที่สุดคือ การแบนครั้งสุดท้ายที่นำความวินาศสันตโรมาสู่ชาวศรีลังกา
“ผมเป็นคนเห็นด้วยกับการทำเกษตรอินทรีย์ แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป การทำเกษตรอินทรีย์นั้นดีสำหรับครอบครัว เพียงพอสำหรับการบริโภคในครัวเรือน แต่ไม่เพียงพอที่จะมีผลผลิตไปเลี้ยงคนศรีลังกาทั้งประเทศ”
Prof. Buddhi บอกว่า การขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์แบบศรีลังกาคือประกาศให้เป็นประเทศเกษตรอินทรีย์แบบ 100 % นั้น เป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงของรัฐบาล การแบนสารเคมีแบบฉับพลันก็เช่นกันผลผลิตชาของศรีลังกาลดลงทันที เหลือเพียง 30 % เท่านั้น เกษตรกรแทบสิ้นเนื้อประดาตัว ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงเสถียรภาพของรัฐบาล ตัวเขาเองเคยเตือนไปยังรัฐบาลเรื่องนี้ แต่สุดท้ายคือ เขาถูกย้ายพ้นทาง
คีย์แมนสำคัญในการผลักดันให้ศรีลังกาเป็นประเทศเกษตรอินทรีย์ 100 % คือ นักบวชและหมอ ซึ่งเป็นบุคคลชั้นนำในสังคมศรีลังกา ภาพการใช้สารเคมีเป็นเรื่องร้ายสำหรับคนศรีลังกาถูกถ่ายทอดจากคนกลุ่มนี้ประจำ (เพอๆกับประเทศแถวๆนี้)
แนวทางสำคัญที่คนทำงานด้านวิชาการอย่างเขามองคือ แม้เกษตรอินทรีย์จะดีแค่ไหนก็เป็นได้แค่ทางเลือก แม้เกษตรอินทรีย์จะมีต้นทุนการผลิตน้อยกว่าเกษตรเคมี แต่ใช้แรงงานมากกว่า ดูแลมากกว่า แต่ผลผลิตน้อยกว่า ราคาที่ขายได้จะต้องมากกว่า ซึ่งในศรีลังกาเองก็ไม่ตอบโจทย์เรื่องนี้ พอจะทำส่งต่างประเทศก็ลำบากผลผลิตในประเทศก็ยังไม่เพียงพอ
ถ้าอินทรีย์เป็นทางเลือก แล้วทางรอดคืออะไร เรื่องนี้ Prof.Buddhi บอกว่า “เกษตรปลอดภัย” เป็นทางรอด การยืนอยู่ตรงกลางระหว่างเกษตรเคมีกับเกษตรอินทรีย์ ในรูปแบบของการผสมผสาน คำนึงถึงผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เป็นทางรอดของประเทศไม่ใช่แค่ศรีลังกาเท่านั้นแต่รวมถึงทุกประเทศในโลกเกษตรปลอดภัยให้ผลผลิตมากกว่าเกษตรอินทรีย์ ดูแลง่ายกว่า ต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยน้อยกว่าเกษตรอินทรีย์ และปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค
“ศรีลังกา” เป็นบทเรียนให้แล้ว ว่าเกิดอะไรขึ้น วันนี้…ผมไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องสุดโต่งอย่างใดอย่างหนึ่ง…
ตอนต่อไป…เมื่อศรีลังกาแบนพาราควอต และ แบนไกลโฟเซต แบบชักเข้าชักออก เกิดอะไรขึ้น…