เหล่าพนักงานบริษัท เซินเจิ้น ตี้ม่าย ไบโอเทคโนโลยี จำกัด (Shenzhen Dymind Biotechnology) ซึ่งตั้งอยู่ที่เขตกวงหมิง นครเซินเจิ้น มณฑลกว่างตง(กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน ตั้งอกตั้งใจทำงานผลิต ติดตั้งตรวจสอบ และแก้ไขจุดบกพร่องของผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์สำหรับการวินิจฉัยภายนอกร่างกาย เพื่อเตรียมบรรจุหีบห่อและส่งออกสู่ไทยและประเทศอื่นๆ
ไต้หวนฉิว รองผู้จัดการทั่วไปฝ่ายธุรกิจต่างประเทศของบริษัทฯ เผยว่ามีการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ไปยังกว่า 120 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก ส่วนมูลค่าการนำเข้าและส่งออกตั้งแต่ต้นปีนี้สูงแตะ 270 ล้านหยวน (ราว 1.36 พันล้านบาท) โดยเฉพาะการส่งออกสู่ไทยและมาเลเซียเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 ขณะการส่งออกสู่อินโดนีเซียและเวียดนามเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 40 เมื่อเทียบปีต่อปี
ข้อมูลสถิติข้างต้นจากบริษัท เซินเจิ้น ตี้ม่าย ไบโอเทคโนโลยี จำกัด เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการค้าอันเฟื่องฟูระหว่างเซินเจิ้นกับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน
โดยช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเซินเจิ้นได้อาศัยข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่ใกล้กลุ่มประเทศอาเซียน กระชับสายสัมพันธ์และความร่วมมือทางการค้าให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดความแข็งแกร่งและโอกาสมากมาย
ศุลกากรเซินเจิ้น ระบุว่า มูลค่าการนำเข้าและส่งออกระหว่างเซินเจิ้นกับไทย อินโดนีเซีย และประเทศอื่นๆในอาเซียน ช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม สูงเกิน 4.69 แสนล้านหยวน (ราว 2.36 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9 เมื่อเทียบปีต่อปี โดยเฉพาะการนำเข้าและส่งออกกับไทยและอินโดนีเซียอยู่ที่ 8.47 หมื่นล้านหยวน (ราว 4.27 แสนล้านบาท) และ 2.99 หมื่นล้านหยวน (ราว 1.51 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 20 เมื่อเทียบปีต่อปี
ความร่วมมือระหว่างเซินเจิ้นกับอินโดนีเซียและไทย ด้านการค้าผลิตภัณฑ์เครื่องกลและไฟฟ้า เช่น เครื่องมือแพทย์และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เดินหน้าใกล้ชิดกันอย่างต่อเนื่อง โดยยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีขั้นสูงของเซินเจิ้นในอินโดนีเซียและไทยพุ่งสูง ขณะเดียวกันเซินเจิ้นนำเข้าวัสดุสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจากทั้งสองประเทศในปริมาณมาก ซึ่งช่วยสานสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน
ตัวอย่างเช่น บริษัท เซินเจิ้น ซิ่นลี่คัง ซัพพลายเชน เมเนจเมนต์ จำกัด (Shenzhen Xinlikang Supply Chain Management) ที่นำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากไทย 1 แสนชิ้น ซึ่งเพิ่งผ่านการตรวจสอบของหน่วยงานศุลกากรท้องถิ่นและขนส่งสู่โรงงานของบริษัทฯ เมื่อไม่นานนี้ โดยเฉินหมิงจากบริษัทฯ เผยว่าความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในจีนสูงมาก โดยบริษัทฯ นำเข้าชิ้นส่วนจากอินโดนีเซียและไทยในปีนี้กว่า 1.4 พันล้านหยวน (ราว 7.07 พันล้านบาท) เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 17 เมื่อเทียบปีต่อปี
สถิติจากศุลกากรเซินเจิ้น ระบุว่า มูลค่าการนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องกลและไฟฟ้าระหว่างเซินเจิ้นกับอินโดนีเซียและไทย ช่วง 10 เดือนแรก รวมอยู่ที่ 8.02 หมื่นล้านหยวน (ราว 4.05 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.1 เมื่อเทียบปีต่อปี ซึ่งคิดเป็นเกือบร้อยละ 70 ของการค้าทั้งหมดระหว่างเซินเจิ้นกับทั้งสองประเทศ และสูงเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน
เซินเจิ้นยังเป็นช่องทางขนส่งผลไม้เมืองร้อนจากไทยและอินโดนีเซียอย่างลำไย มังคุด ทุเรียน และอื่นๆเข้าสู่ตลาดจีน เช่น บริษัท เซินเจิ้น กว่างหลิน จำกัด นำเข้าตู้คอนเทนเนอร์ราว 180 ตู้ต่อเดือน ซึ่งบรรทุกสินค้ามากกว่า 3,000 ตัน ด้านท่าอากาศยานนานาชาติเซินเจิ้น เป่าอัน ให้บริการเที่ยวบินสู่อาเซียนกว่า6,500 เที่ยว ขนส่งสินค้ากว่า 150,000 ตัน ในช่วง 10 เดือนแรกที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 30 เมื่อเทียบปีต่อปี
ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2022 และการดำเนินงานตามข้อตกลงของเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน ยังเกื้อหนุนการค้าระหว่างเซินเจิ้นและกลุ่มประเทศอาเซียนอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูล/ภาพ จาก : สำนักข่าวซินหัว (XinhuaThai)