นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การผลิตลำไย ปี 2565 ที่มีเนื้อที่ให้ผล 1.7 ล้านไร่ ผลผลิต 1.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีผลผลิตเพียง 1.2 ล้านตัน เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยและมีปริมาณน้ำเพียงพอในช่วงออกดอกและติดผล
อย่างไรก็ตาม การผลิตลำไยให้ได้ผลผลิตจำนวนมากและมีคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของตลาดมีอุปสรรคหลายประการโดยเฉพาะโรคและแมลงศัตรูลำไย ซึ่งเมื่อระบาดแล้วส่งผลกระทบต่อผลผลิตโดยตรงทำให้ต้นพืชอ่อนแอและทรุดโทรมลงเรื่อยๆ จนกระทั่งตายในที่สุด
การยกระดับคุณภาพและมาตรฐานผลไม้ จะเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของผลไม้ไทยตลอดห่วงโซ่การผลิต การแปรรูป จนถึงการตลาด โดยเฉพาะในการผลิตลำไย ได้มีการวางแผนบริหารจัดการเชิงปริมาณและคุณภาพ ทั้งระยะก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต เน้นการกระจายผลผลิตออกนอกฤดูการส่งเสริมการผลิตตามมาตรฐาน(GAP) โครงการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรตามอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นการให้คำแนะนำเกษตรกรในการเตรียมต้นลำไยในการผลิตในฤดูกาลถัดไปด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม
กรมวิชาการเกษตร จึงมีคำแนะนำให้กับเกษตรกรในการจัดการต้นลำไยสำหรับการผลิตลำไย ดังนี้
1. การเตรียมต้นให้พร้อมหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตในฤดูกาลก่อน
– การตัดแต่งกิ่งเพื่อควบคุมทรงพุ่มและตัดกิ่งแห้งหรือเป็นโรคออก โดยให้ตัดกิ่งกลาง กิ่งทับซ้อน กิ่งแห้งตายหรือ กิ่งที่มีโรค-แมลงทำลาย
– เก็บตัวอย่างดินเพื่อวิเคราะห์ดิน ทำการใส่ปุ๋ยเพิ่มความสมบูรณ์ต้น เพื่อปรับปรุงดินให้เหมาะสมหรือใส่ปุ๋ยอินทรีย 10-20 กิโลกรัมต่อต้น และปุ๋ยเคมี 15-15-15 ผสม 46-0-0 สัดส่วน 1:1 อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อต้น
– การให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ
– การป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูสำคัญในช่วงแตกใบอ่อน เช่น ไรสี่ขา หนอนคืบ
– งดการให้น้ำช่วงก่อนออกดอก
2. การเตรียมต้นช่วงออกดอกและช่วงผสมเกสร
– ในช่วงเริ่มออกดอก ให้น้ำเล็กน้อยและเพิ่มปริมาณขึ้นตามลำดับ
– ใส่ปุ๋ยบำรุง
– เฝ้าระวังและป้องกันกำจัดแมลงทำลายช่อดอก ได้แก่ หนอนเจาะช่อดอก เพลี้ยหอยหรือเพลี้ยแป้ง
– พ่นสารป้องกันกำจัดแมลงก่อนดอกบาน โดยหลีกเลี่ยงช่วงดอกบาน
– ในช่วงผสมเกสร ให้น้ำอัตรา 250-350 ลิตรต่อต้น สัปดาห์ละ 2 ครั้ง
– หากมีแมลงช่วยผสมเกสรน้อย ควรมีการนำผึ้งมาเลี้ยงเพื่อช่วยผสมเกสรในสวน
– ในช่วงผสมเกสร เฝ้าระวังการเข้าทำลายของเพลี้ยไฟ พ่นสารป้องกันกำจัด
3. การจัดการช่วงติดผลและพัฒนา
– ให้น้ำ อัตรา 250-350 ลิตรต่อต้น สัปดาห์ละ 2 ครั้ง
– ในระยะติดผล ใส่ปุ๋ยบำรุง ได้แก่ ปุ๋ยเคมี เช่น 15-15-15 ผสม 46-0-0 สัดส่วน 1:1 อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อต้น
– ในระยะก่อนเก็บเกี่ยว 30 วัน ใส่ปุ๋ยบำรุง ได้แก่ ปุ๋ยเคมี 0-0-60 หรือ 13-13-21 อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อต้น
– เฝ้าระวังและป้องกันกำจัดแมลงทำลาย ได้แก่ มวนลำไย เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง ผีเสื้อมวนหวาน
4. การจัดการช่วงเก็บเกี่ยว
– เก็บเกี่ยวผลผลิตเมื่อผลอายุประมาณ 22 สัปดาห์ หลังติดผล เปลือกผลเรียบเกือบไม่มีกระและสีน้ำตาลอ่อน
– หักหรือตัดช่อผล ให้มีใบย่อยสุดท้ายติดไปด้วย
– รวบรวมผลผลิตไว้ในภาชนะหรือสถานที่ที่สะอาด ควรมีภาชนะรองรับ ไม่ควรวางผลผลิตบนพื้นดินโดยตรง
– ตัดแต่งช่อผล คัดขนาด และคุณภาพผลผลิตตามมาตรฐานลำไย
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า นอกจากนี้กรมวิชาการเกษตรยังแนะนำหลักการการผลิตลำไยนอกฤดู ดังนี้
1. การเตรียมความพร้อมต้น
– หลังเก็บเกี่ยวให้ทำการตัดแต่งกิ่ง เพื่อกระตุ้นให้แตกกิ่งใหม่ให้เร็วและสม่ำเสมอ โดยตัดกิ่งภายในทรงพุ่มที่ไม่ได้รับแสงและกิ่งที่ถูกโรคและแมลงทำลาย
– ใส่ปุ๋ยบำรุงดินและต้น โดยการใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 10-20 กิโลกรัมต่อต้น พร้อม 15-15-15 ผสม46-0-0 สัดส่วน 1:1 อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อต้น
– ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ
– ป้องกันกำจัดศัตรูลำไยที่สำคัญที่จะกัดกินใบอ่อน เช่น หนอนคืบกินใบและแมลงค่อมทอง
2. การชักนำให้ออกดอก
– บำรุงต้นให้สมบูรณ์ ต้นลำไยอยู่ในระยะใบแก่
– ทำความสะอาดบริเวณใต้ทรงพุ่มให้โล่งเตียน
– ชักนำให้ออกดอกด้วยสารคลอเรต โดยการให้สารโพแทสเซียมคลอเรตบริสุทธิ์ อัตรา 60-80 กรัมต่อน้ำ 40-60 ลิตร ต่อเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร ราดรอบชายพุ่ม ในช่วงฤดูฝนใช้อัตราเพิ่มขึ้นเป็น100-120 กรัม หรือใช้โซเดียมคลอเรต 50% เอสพี อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 60-80 ลิตร ลิตร ต่อเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร ราดรอบชายพุ่ม
– หลีกเลี่ยงการชักนำออกดอกโดยใช้สารคลอเรตในช่วงที่มีฝนตกชุก
– รดน้ำให้ดินชุ่มชื้น ทุก 3-5 วัน หลังราดสาร ประมาณ 20-30 วัน ลำไยจะเริ่มออกดอก
– การปฏิบัติดูแลรักษา ได้แก่ การใส่ปุ๋ย การให้น้ำ การป้องกันกำจัดศัตรูพืชและการเก็บเกี่ยวผลผลิตจะปฏิบัติเช่นเดียวกับการผลิตลำไยในฤดู
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า การใช้เทคโนโลยีการผลิตลำไยของกรมวิชาการเกษตร ทำให้เกษตรกรลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ผลผลิตมีคุณภาพตรงตามความต้องการของผู้บริโภค
โดยการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการชักนําการออกดอกและติดผลช่วงฤดูฝน สามารถลดต้นทุนการผลิตลำไยนอกฤดูลงได้ 46% และสามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรสุทธิ 32.5% รวมทั้งยังเพิ่มคุณภาพผลผลิตในด้านความกว้างผล ความยาวผล ความหนาผล ความหนาเนื้อ น้ำหนักเนื้อต่อผล และความหวานด้วย