วันอนุรักษ์ควายไทย ตรงกับวันที่ 14 พฤษภาคม ของทุกปี เพื่อร่วมกันอนุรักษ์และดูแลควายไทย และส่งเสริมการเลี้ยงควาย ให้อยู่คู่คนไทยไปอีกแสนนาน
ควาย หรือภาษาทางการเรียกว่า กระบือ ที่เรารู้จักกันนี้ น้อยคนแล้วที่จะได้เคยเห็นตัวจริง ได้รู้จักตัวเป็นๆ ของสัตว์สี่เท้าที่มีกีบเหล่านี้ ควายไทยถือเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมของไทยมาอย่างช้านาน คนไทยเทียมควายไถนามาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ทวด ด้วยความที่เป็นสัตว์ที่มีความอดทน ทนแดด ทนร้อน ทนสภาพอากาศแห้งแล้งได้ ทำให้กลายเป็นเครื่องมือไถนาชั้นดี ก่อนที่จะมีรถไถเกิดขึ้นมานอกจากนี้แล้วการเดินทางในสมัยก่อนก็ยังใช้ควายเทียมเกวียน เพื่อทุ่นแรงในการเดินทางไกลอีกด้วยแต่ปัจจุบันควายไทยถูกลดความสำคัญลง จนกลายเป็นเพียงสัตว์เลี้ยงเท่านั้น
คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันที่ 14 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์ควายไทย เนื่องจากปัจจุบันจำนวนควายไทยและผู้เลี้ยงควายไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งควายยังเป็นสัตว์ที่ไม่ได้รับความเอาใจใส่จากทางภาครัฐในการส่งเสริมและสนับสนุนในการสร้างเสริมอาชีพ การกำหนดวันนี้ขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักให้กับคนไทยถึงความสำคัญของควายและช่วยกันอนุรักษ์ก่อนที่ควายไทยจะสูญพันธุ์ไป
เหตุที่ต้องกำหนดให้เป็นวันที่ 14 พฤษภาคม เนื่องมาจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชกระแสรับสั่งถึงหลักการดำเนินโครงการธนาคารโค-กระบือ เป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นแนวทางในการอนุรักษ์ควายไทยสืบมา
การจัดจำแนกควายไทย จะแบ่งไปตามรูปร่างลักษณะ การเรียกชื่อ และถิ่นที่อยู่ ซึ่งแตกต่างกันออกไป ดังนี้
1. กระบือทุย อยู่ในแถบจังหวัดลำพูน ลำปาง และอุตรดิตถ์ มีผิวหนังสีดำ ขนหน้าสีดำ หัวยาว ตัวเมียคอยาว และลึก ในตัวเมียจะมีเต้านมใหญ่กว่าชนิดอื่นๆ สูงประมาณ 140 ซม. นํ้าหนักตัวประมาณ 450 กก.
2. กระบือแขม อยู่ในแถบจังหวัดลำพูน และลำปาง กระบือแขมที่จังหวัดลำปางจะมีขนาดเล็กกว่าในจังหวัดลำพูน กระบือชนิดนี้มีขนาดเล็ก นํ้าหนักตัวประมาณ 350 กก. มักชอบหากินใบไม้ หนังและขนมีสีเทา หัว คอ และลำตัวสั้นกว่ากระบือทุย สูงประมาณ 130 ซม.
3. กระบือจาม อยู่ที่จังหวัดลำปาง มีลักษณะเหมือนกระบือทุย ผิวหนังสีดำ ขนหน้าสีดำ หัวยาว แต่ตัวเล็กกว่ากระบือทุย
4. กระบือประ อยู่ที่อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ คาดว่าเป็นกระบือที่ต้อนมาจากอำเภอแม่สอดจังหวัดตาก มีขนาดเล็ก ไม่ค่อยมีกล้ามเนื้อ ตีนเล็ก นํ้าหนักประมาณ 300-450 กก. และมีลักษณะค่อนข้างเปรียวมาก
5. กระบือมะริด เดิมเป็นกระบือพม่า เข้ามายังประเทศไทยทางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลักษณะเหมือนกระบือทางภาคกลางส่วนใหญ่ แต่มีขนาดเล็ก รูปร่างได้สัดส่วน แข็งแรง ขาตรง สีคลํ้า ขนยาวกว่ากระบือชนิดอื่น ตัวผู้หนักประมาณ 325-350 กก. ตัวเมียหนักประมาณ 300 กก.
6. กระบือตู้ (กระบือทู่) อยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศไทย เป็นกระบือที่มีกระดูกขาใหญ่ เขากาง มีโครงกระดูกใหญ่
7. กระบือนํ้าว้า อยู่ที่จังหวัดน่าน มีลักษณะเช่นเดียวกับกระบือทุย แต่มีขนาดใหญ่มาก เกือบ 1 ตัน
8. กระบือในภาคกลาง อยู่ในจังหวัดอุทัยธานี คาดว่าอพยพมาจากหลายที่ ทั้งภาคอีสานและกระบือทุยทางภาคเหนือ สูงประมาณ 135-145 ซม. หนักประมาณ 700-750 กก.
9. กระบือแกลบ อยู่แถบอำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลักษณะเหมือนกระบือทางภาคกลางแต่ตัวเล็กกว่า นํ้าหนักประมาณ 300-400 กก.
10. กระบือจ้อน อยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย ในอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง คล้ายกระบือแกลบ มีขนาดเล็ก หูเล็ก นํ้าหนักประมาณ 300 กก.