นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความเป็นห่วงสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน จึงได้มอบนโยบายให้กรมชลประทานและหน่วยงานในสังกัดเร่งช่วยเหลือเกษตรกรหลังน้ำลด ซึ่งปัจจุบันปริมาณฝนในพื้นที่ตอนบนได้ลดน้อยลงส่งผลให้สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายลดลงตามไปด้วย
กรมชลประทาน ได้ปรับลดการระบายน้ำในหลายพื้นที่แบบขั้นบันได โดยพิจารณาการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันรักษาปริมาณน้ำให้อยู่ในอ่างเก็บน้ำตามเกณฑ์กักเก็บที่กำหนดไว้ เพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งให้ได้มากที่สุด ขณะนี้มีพื้นที่ที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 22 จังหวัด
นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้โครงการชลประทานในพื้นที่ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบให้กลับเข้าสู่ภาวะปรกติโดยเร็ว รวมไปถึงการตรวจสอบความมั่นคงของอาคารชลประทานที่ใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพในช่วงที่ผ่านมา ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ พร้อมกับวางแผนบริหารจัดการน้ำและแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย การเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เข้าไปช่วยระบายน้ำที่ท่วมขังออกจากพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนได้กลับมาประกอบอาชีพและใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ตามนโยบายการช่วยเหลือหลังน้ำลดของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ปัจจุบัน (20 ต.ค..65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 63,877 ล้านลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 84 ของความจุอ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 13,043 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 20,430 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 82 ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 4,487 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ปริมาณฝนตกจะเริ่มเพิ่มขึ้นในพื้นภาคใต้ของประเทศ ตั้งแต่บริเวณจ.ประจวบคีรีขันธ์ ลงไป จึงได้มอบหมายให้สำนักงานชลประทานในพื้นที่ภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ ตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 65
โดยให้วางแผนการบริหารจัดการน้ำ การคาดการณ์สถานการณ์ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมเฝ้าระวังและควบคุมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด พิจารณาปรับการระบายน้ำเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่จะเพิ่มขึ้น โดยไม่กระทบต่อพื้นที่ท้ายอ่าง
รวมทั้งตรวจสอบอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญให้บูรณการร่วมกับหน่วยงานระดับจังหวัดในการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง ลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด