นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูฝนขอแจ้งเตือนให้ระวังการเก็บเห็ดป่าหน้าฝนขอให้ระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะอาจเจ็บป่วย หรือเสียชีวิต จากการเก็บเห็ดพิษบางชนิดที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายเห็ดกินได้สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร มีคำแนะนำเกี่ยวกับการเก็บเห็ดป่า ดังนี้
1. การจำแนกชนิดเห็ดป่าต้องทราบชนิดและมั่นใจจริง ๆ ว่ารู้จักเห็ดชนิดนั้น ๆ
2. การเก็บเห็ดต้องเก็บให้ครบทุกส่วน เพราะหากเด็ดแต่ส่วนบนของดอก อาจทำให้ขาดลักษณะจำเพาะบางอย่าง เช่น กระเปาะ (Volva) ซึ่งอยู่ติดกับดิน ใช้บ่งบอกชนิดของเห็ดพิษร้ายเช่นเห็ดสกุลAmanita ได้
3. เก็บเฉพาะเห็ดที่มีรูปร่างลักษณะสมบูรณ์เท่านั้น หลีกเลี่ยงเห็ดที่อ่อนหรือแก่เกินไป หรือเห็ดที่มีลักษณะต่าง ๆ ที่ใช้จำแนกชนิดยังไม่เจริญพอ หลีกเลี่ยงเห็ดที่แก่หรือเริ่มเน่าเปื่อย เนื่องจากเห็ดที่มีสภาพดี เมื่อแก่อาจมีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีจนทำให้มีพิษอย่างอ่อนได้
4. เวลาเก็บให้แยกชนิดเป็นชั้น โดยนำกระดาษรองในตะกร้า เพื่อป้องกันการปนเปื้อน หากเก็บเห็ดพิษปะปนมาด้วย
5. ควรหลีกเลี่ยงเก็บเห็ดภายหลังฝนตกใหม่ ๆ เนื่องจากเห็ดบางชนิดสีบนหมวกดอกอาจถูกชะล้างให้จางลงได้ทำให้บ่งชี้ชนิดยาก
6. เก็บเห็ดมาแล้วให้นำมาปรุงอาหารเลย ไม่ควรเก็บไว้นาน เพราะเห็ดจะเน่าเสียเร็ว หรืออาจแช่ตู้เย็นไว้ได้
7. ห้ามรับประทานเห็ดดิบ ๆ โดยเด็ดขาด
8. เห็ดที่ไม่เคยรับประทาน ควรทานแต่เพียงเล็กน้อยในครั้งแรก เห็ดที่ไม่เป็นพิษสำหรับคนอื่น อาจทำให้เรามีอาการแพ้ได้
9. ไม่ควรเก็บเห็ดที่ขึ้นใกล้โรงงานสารเคมี เนื่องจากเห็ดสามารถดูดซับสารพิษต่าง ๆ สะสมไว้ในตัวไว้ได้ รวมถึงโลหะหนัก
ที่สำคัญคือการที่จะเลือกรับประทานเห็ดป่าอย่ารับประทานเห็ดที่สงสัย ไม่รู้จัก และไม่แน่ใจ ควรรับประทานเฉพาะเห็ดที่ทราบชื่อชนิด หรือเห็ดเพาะเลี้ยงได้ และให้หลีก เลี่ยงการรับประทาน เห็ดดอกตูม ที่ไม่รู้จัก
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หากได้รับอันตรายจากการรับประทานเห็ดพิษ มีคำแนะนำการปฐมพยาบาลทางการแพทย์ สำหรับอาการที่เกิดจากการกินเห็ดพิษมีความแตกต่างกันตามชนิดและปริมาณเห็ดที่กินเข้าไป เช่น เห็ดระโงกหิน เห็ดระงากขาวหรือเห็ดไข่ตายซาก แสดงอาการหลังจากรับประทาน 6-24 ชั่วโมง มีอาการท้องร่วงเป็นตะคริว ที่ท้อง ปวดท้องรุนแรง คลื่นไส้อาเจียน หลังจาก24 ชั่วโมงมีอาการ ตับและไตวาย หรืออาจเสียชีวิตภายใน 2-6 วัน
เห็ดเกล็ดขาว มีเหงื่อออกมาก น้ำตาและน้ำลายไหล วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ในรายที่รุนแรงชีพจรจะเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำอาจถึงตาย เห็ดหมวกจีน มีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียนท้องร่วงเป็นตะคริว มักเกิดหลังจากรับประทานเห็ดแล้ว 30-90 นาที อาจจะ ทุเลาภายใน 3-4 ชั่วโมง และฟื้นตัวภายใน 1-2 วัน
เห็ดหัวเกร็ดครีบเขียว จะเกิดอาการภายใน 15 นาทีถึง 4 ชั่วโมง ทำให้ระคายเคืองระบบทางเดินอาหารคลื่นไส้ อาเจียน เป็นตะคริวที่ท้อง ท้องเสีย เห็ดถ่านเลือด จะเกิดอาการภายใน 2 ชั่วโมง มีอาการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร ต่อมาหลังจาก 6 ชั่วโมง มีอาการเจ็บกล้ามเนื้อ ตับและไตวายและอาจเสียชีวิต
หากได้รับอันตรายจากการรับประทานเห็ดพิษ มีคำแนะนำการปฐมพยาบาลทางการแพทย์โดยต้องทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยให้ดื่มน้ำอุ่นผสมเกลือ (เกลือ 3 ช้อนชาต่อน้ำอุ่น 1 แก้ว) แล้วล้วงคอให้อาเจียนออกมามากที่สุด เพื่อลดการดูดซึมของสารพิษ
หลังจากนั้นให้กินผงถ่านโดยบดละเอียด 2 ถึง 3 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1 แก้ว ผสมกับน้ำให้ข้นเหลว เพื่อดูดสารพิษของเห็ดในทางเดินอาหารแล้วรีบนำผู้ป่วยไปหาหมอหรือส่งโรงพยาบาล พร้อมกับนำเห็ดที่เหลือจากกินไปด้วย เพื่อให้แพทย์ใช้ประกอบการวินิจฉัย รักษาอาการ และส่งตรวจสอบชนิดของเห็ดพิษทางห้องปฏิบัติการต่อไป