รำลึก 80 ปี ”กรมปศุสัตว์”จากบ้านพระอาทิตย์ สู่บ้าน”พระยาคทาธรบดี”อดีตมหาดเล็กคนสำคัญของในหลวง ร.6
บ้านพลตรีพระยาคทาธรบดีสีหราชบาลเมือง หรือ เทียบ อัศวรักษ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรมปศุสัตว์ในปัจจุบัน เลขที่ 69/1 ถนนพญาไท เขตราชเทวี ซึ่งราคาที่ดินขึ้นชื่อว่าเป็น “ย่านทำเลทอง”
หากย้อนประวัติศาสตร์ไปแล้ว เริ่มต้นจากนายเทียม อัศวรักษ์ ชาวอยุธยา(ผู้บิดา) พาครอบครัวได้เดินทางมายังบางกอก และสมัครเข้าทำงานกับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศรวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาลในสมัยต้นรัชกาลที่ 5
จนกระทั่งนายเทียม ได้เป็น”หลวงธุระการจำกัด” มีหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์ในย่านสำเพ็ง จึงได้ตั้งบ้านละแวกนั้น เป็นที่รู้จักกว้างขวางในหมู่คนไทยและคนจีน จนคนจีนในย่านนั้นเรียกนายเทียมว่า หมาต๋าเทียม เป็นผู้คอยควบคุมดูแลชาวจีนในเยาวราช
“นายเทียม” มีบุตรชายคนโต คือ “นายเทียบ”จึงได้ส่งไปถวายตัวรับใช้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร(รัชกาลที่ 6) ซึ่งในขณะนั้นทรงพระอิสริยยศพระยุพราช จนได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยยิ่ง จนเปรียบเสมือนพระสหาย
“นายเทียบ”คุ้นเคยกับม้าเป็นอย่างดี เนื่องจากผู้เป็นบิดา ได้ฝึกสอนการขี่ม้า อันเป็นพาหนะสำคัญของตำรวจในยุคนั้น นอกจากนี้นายปีเตอร์เอชั่น ลอร์สัน อธิบดีกรมนครบาล ได้ช่วยฝึกสอนม้าให้นายเทียบเป็นพิเศษอีกด้วย
นายเทียบ จึงชำนาญการขี่ม้า กระทั่ง พ.ศ. 2447 จบการศึกษาได้บรรจุเป็นรองสารวัตร ยศนายร้อยโทประจำโรงพักนางเลิ้ง เมื่ออายุย่างเข้า 19 ปี
ร้อยโทเทียบ เป็นคนรูปร่างใหญ่โต สง่าผ่าเผย เป็นนักกีฬาที่ช่ำชองการขี่ม้า และมีหน้าที่ขี่ม้านำขบวนหลวง
ครั้นเมื่อรัชกาลที่ 6 เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว”ร้อยโทเทียบ”ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายวรการบัญชา(ต่อมามียศพิเศษเป็น”ร้อยเอก”นายทหารพิเศษ)บังคับบัญชามหาดเล็กทุกคนตั้งแต่ห้องบรรทมจนถึงห้องเครื่อง รวมถึงการติดต่อราชการในวังหลวงกับกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ล้วนเป็นหน้าที่ของนายวรการบัญชาทั้งสิ้น
เนื่องจากบ้านของนายวรการบัญชา ที่คลองบางกอกน้อยนั้นอยู่ไกล ไปมาไม่สะดวก รัชกาลที่ 6 จึงพระราชทานบ้านให้ใหม่ จนถึง พ.ศ.2455 รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายฉันท์ หุ้มแพร ปีต่อมาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็น”พระอัศวบดีศรีสุรพาหน อธิบดีกรมพระอัศวราช”กำกับดูแลม้าหลวงทั้งหมดต่อมาเมื่อออกประกาศพระราชบัญญัตินามสกุล ก็ได้รับพระราชทานนามสกุล “อัศวรักษ์”เป็นลำดับ 8 ในสยาม
ต่อมาในปี พ.ศ.2494 บ้านหลังนี้ถูกซื้อโดยกระทรวงเกษตราธิการ เพื่อใช้เป็นที่ทำการของ “กรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ”แห่งใหม่ เนื่องจากที่ทำการเดิมที่วังพระองค์เจ้าคำรบ(บ้านเจ้าพระยา) ถนนพระอาทิตย์มีพื้นที่จำกัด ไม่สามารถขยับขยายได้
จากวันนั้นที่เคยเป็นบ้านของ”พระยาคทาธรบดี สีหราชบาลเมือง(เทียบ อัศวรักษ์)”ที่ถวายงานรับใช้รัชกาลที่ 6 อย่างใกล้ชิดจวบจนวันสวรรคต มาถึงปัจจุบันบ้านของท่านได้กลายมาเป็นตึกอาคารอำนวยการของ”กรมปศุสัตว์”ในย่านทำเลทองกลางกรุงเทพมหานคร ยังได้รับการดูแลเป็นอย่างดี จนโดดเด่นเป็นสง่าและสวยงาม ปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น”โบราณสถาน”
จากประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2564 เผยแพร่ ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ความว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 แห่งพ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504