นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ได้ประชุมร่วมกับ นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งออกผลไม้ไปจีน ผ่านระบบซูมกับอัครราชทูตที่ปรึกษา(ฝ่ายเกษตร) ประจำกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในการวางแนวปฏิบัติการเปลี่ยนรหัสรับรองรูปแบบใหม่สำหรับสินค้าผลไม้ที่ส่งออกไปจีนให้สอดคล้องกับประกาศของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เรื่อง กำหนดรหัสในการใช้และแสดงเครื่องหมายในการรับรองมาตรฐานสำหรับสินค้าเกษตร ที่เริ่มมีผลบังคับใช้แล้วในปัจจุบัน
โดยการส่งรายชื่อสวนผลไม้ส่งออกไปจีนรอบต่อไปกำหนดไว้ในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งกรณีแปลงใหม่ที่ยื่นขอรับรองแปลง GAP และแปลงเก่าที่ขอยื่นต่ออายุ GAP ไปแล้วนั้น กรมได้เปลี่ยนรหัสให้เป็นรูปแบบใหม่ทั้งหมดแล้ว ส่วนแปลงเก่าที่ GAP ยังไม่หมดอายุ เกษตรกรสามารถติดต่อมายัง สวพ. ในพื้นที่ใกล้บ้าน เพื่อยื่นขอเปลี่ยนเป็นรหัสรูปแบบใหม่ได้แล้ว ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึง วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565
“กรมวิชาการเกษตรจะเดินหน้าปรับรหัสใหม่ตามที่ มกอช. ออกประกาศภายในกรอบเวลาที่กำหนดเนื่องจากกรมเห็นว่าเป็นโอกาสดี ที่จะได้ปรับปรุงระบบให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น รองรับฤดูส่งออกผลไม้ใหม่ทั้งทุเรียนและลำไยที่จะเริ่ม ก.พ. ปีถัดไป โดยกรมได้วางแผนรับมือไว้แล้ว และจะเร่งประสานกับทูตเกษตรปักกิ่งเพื่อทำความเข้าใจกับฝ่ายจีนโดยเร็วต่อไป เพื่อมิให้เกิดผลกระทบกับการส่งออก ทั้งนี้ ในโอกาสที่จะปรับรหัสสวนใหม่ ได้มอบนโยบายให้ กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช ในการนำเครื่องหมายคิวอาร์โค้ด ไปใส่ไว้ในใบรับรองแปลง GAP ใหม่นี้ด้วย เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ และนอกจากนี้สั่งการให้ทุกด่านตรวจพืชเข้มงวดในการตรวจทุเรียนส่งออก หากพบเจ้าหน้าที่กระทำไม่ถูกต้อง “พิจารณาลงโทษตามกฏระเบียบราชการ” ทันที กรณีเอกชนรายใดมีประวัติว่าเคยพบการเตรียมส่งทุเรียนด้อยคุณภาพ ให้ตรวจสอบ 100% ทั้งต้นทางและปลายทาง ก่อนออกนอกประเทศ” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว
นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ขอให้ทีมเล็บเหยี่ยวของ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี (สวพ. 6) ช่วยตรวจสอบทุเรียนในพื้นที่ภาคใต้ด้วย เนื่องจากขณะนี้ทุเรียนภาคใต้ยังเหลือไม่มาก ประกอบกับมีทุเรียนเพื่อนบ้านออกมาในช่วงนี้ และอยากให้ทุกพื้นที่มีทีมเล็บเหยี่ยวด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ขอให้ทุกพื้นที่เข้มงวดในการตรวจสอบทุเรียนทุกล็อตให้ได้คุณภาพตามเงื่อนไขที่กำหนด เนื่องจากตามข้อสังเกตของทูตเกษตรกว่างโจว และทูตเกษตรเซี่ยงไฮ้ เห็นว่า ชาวจีนก็อยากลองทุเรียนจากประเทศอื่น เช่น เวียดนาม ดังนั้น การรักษาคุณภาพของทุเรียนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่จะรักษาตลาด เพื่อให้ผู้บริโภคได้บริโภคสินค้าคุณภาพ และมีความเชื่อมั่นต่อทุเรียนและผลไม้ไทย