ฟาร์มเพาะเลี้ยงแมลงในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะส่งขายแมลงแบบเป็นตัว โดยแมลงที่นิยมเพาะเลี้ยงเช่น จิ้งหรีด ตั๊กแตน แมงป่อง ดักแด้ หนอนรถด่วน ด้วง มด แต่ที่ได้รับความนิยมอันดับต้นๆ คือ จิ้งหรีดซึ่งพบว่า ตลาดทั่วโลกขยายตัวต่อเนื่อง
การเก็บผลผลิตจิ้งหรีด เป็นขั้นตอนสำคัญที่ ภูดิศ หาญสวัสดิ์ เกษตรกรคนเก่งในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้ถ่ายทอดความรู้ไปสู่สมาชิกในกลุ่ม เพราะการเก็บเกี่ยวเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความสำเร็จ
เมื่อถามว่า เลี้ยงมาตั้งแต่ตัวเล็กๆจนมาถึง เต็มวัย มีวิธีการเก็บผลผลิตยังไง ดูจิ้งหรีดยังไงถึงจะดูเป็นจิ้งหรีดคุณภาพเพื่อที่จะส่ง เกษตรกรกล่าวว่า “ข้อดีของจิ้งหรีดและสะดิ้ง สำหรับมือใหม่ยังไงก็ทำได้ คือเขาเรียกว่าช่วงอายุของจิ้งหรีดและสะดิ้งเขาบังคับ ถ้าเราจำไม่ได้ดูไม่เป็นว่าอย่างนี้พร้อมแล้วหรือยัง
แต่ช่วงอายุเขาจะบังคับ พอ 30-35 เริ่มกินเก่ง 35 วัน ตัวเมียเริ่มออกเข็มที่เอาไว้วางไข่ก็ยังไม่มั่นใจว่ามันจะจับได้หรือยัง พอเข้า 37-38 วันตัวผู้จะเริ่มร้องเพื่อผสมพันธุ์ ถ้าเราจดเอาไว้ดูว่าวันที่ 43-47 วัน ตัวเมียท้องจะเต็มช่วงนั้นจะเป็นช่วงที่พร้อม
ถึงบอกว่าธุรกิจของแมลงง่ายสำหรับมือใหม่ แต่บางทีเราไม่รู้ว่าอันนี้พร้อมหรือยังแต่เวลาบังคับ เพราะถ้าเกิดว่าเราปล่อยยาวไปเรื่อยๆเกิน 60 วันแล้วเราไม่ได้ขายจะร่วงตาย ฉะนั้นแล้วเราใช้วิธีการสังเกตก็สามารถทำได้ คือสัตว์บางชนิดเราต้องสังเกตพฤติกรรม สังเกตการกิน การวางไข่ การออกลูก แต่สำหรับแมลงเวลาเป็นตัวกำหนด ถ้าถึงเวลาแล้วไม่ขาย เขาจะร่วงตาย อันนี้คือข้อกำหนดของธรรมชาติแมลงอยู่แล้วครับ”
สิ่งที่ต้องระมัดระวังในการเก็บผลผลิต ภูดิศบอกว่า“ที่นี่จะมีระเบียบจะมีข้อบังคับไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการให้อาหาร ก่อนที่จะจับพวกผักใบเขียว จริงๆแล้วช่วงระหว่างเลี้ยงผักใบเขียวเราไม่ให้กิน เพราะว่าเราไม่มั่นใจว่าพวกใบหม่อน ใบมันสำปะหลังเอามาจากไหน มีสารพิษต้องค้างหรือเปล่า กลุ่มจะไม่อนุญาตให้สมาชิกใช้ผักใบเขียว ฟักทองให้ได้ แล้วก็หลังจากนั้นจะมีการงดอาหารก่อนจับ 1 วัน
ในลักษณะของการจับมีการเตรียมเอาแผงไข่ออกบางส่วนให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อพร้อมสำหรับที่ว่าประมาณตี 2-3 เราจะเริ่มมาจับ เวลาจับเราจะมีกะละมังที่ทำขึ้นมาเฉพาะสำหรับรองเอาเศษวัสดุ รองเอามูลจิ้งหรีดที่ติดตัวออกให้สะอาดที่สุด แล้วก็ใส่ถุงเอาไปใส่กะละมังรวมชั่งอีกทีนึง ขั้นตอนในการจับไม่ยุ่งยากแต่ใช้เวลาครับ
เน้นเลยในส่วนของกลุ่มจิ้งหรีดหรือแมลงที่อยู่บนพื้นบ่อเราจะไม่จับ เราจะจับที่อยู่ในแผงไข่กับอยู่ที่ผนังนั้นคือจิ้งหรีดที่มีชีวิตอยู่ จิ้งหรีดที่มีความแข็งแรง ในขณะที่อยู่บนพื้นเราไม่มั่นใจว่าเขาตายไหม ตายมานานหรือยัง จะมีผลต่อคุณภาพของแมลงที่เราส่งขายนี่ คือข้อกำหนดของกลุ่มครับ”
เมื่อเก็บผลผลิตเสร็จขั้นตอนสำคัญคือ การส่งไปยังตลาดที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน “…มันจะมีหลายตลาด ตลาดนึงก็คือตลาดตัวสด ชั่งกิโลแล้วเอาขึ้นรถเอาน้ำแข็งบดโรย พอครบถ้วนก็วิ่งส่งตลาดเลย อีกส่วนนึงคือขายตัวฟรีซแช่แข็ง จับเสร็จชั่งกิโลชั่งน้ำหนัก จังหวะชั่งกิโลเราจะมีการตรวจสอบตลอดนะครับเอาไปสถานที่เขาเรียกว่าโรงต้ม แล้วบรรจุใส่ถุง 1 กิโลหรือว่าครึ่งกิโล แล้วก็ฟรีซแช่แข็งรอจำหน่าย จะมีคนละตลาดกันขึ้นอยู่กับว่าตอนนั้นเราติดต่อตลาดเอาไว้แบบไหน ซึ่งตลาดตัวสดและเวลาฟรีซแช่แข็งเราจำหน่ายให้กับทั้งสองตลาดหรือทุกๆ คู่ค้าสม่ำเสมอ เราขายให้กับคู่ค้าทุกคนครับ”