เกษตรที่ว่านี้ คือ…นางสาวพวงมาลัย ทองไชย์ และนางสาวนันทนา มูลมาตย์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ จากสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองขอนแก่น ลงพื้นที่ให้คำแนะนำการป้องกันและกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าว
ณ แปลงเกษตรกรบ้านบึงฉิม หมู่ที่ 4 ตำบลบึงเนียม อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
เกษตรกรทักมาขนาดนี้..ไม่บอกต่อไม่ได้แล้วหละครับ
สำหรับแนวทางการป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
1. ปลูกข้าวพันธุ์ต้านทาน เช่น กข 6 กข 31 กข 41 กข 47 สุพรรณบุรี 2 สุพรรณบุรี 3 สุพรรณบุรี 90 พิษณุโลก 2 และไม่ควรปลูกพันธุ์เดียวติดต่อกันเกิน 4 ฤดูปลูก ควรปลูกสลับกันระหว่างพันธุ์ต้านทานสูง กับพันธู์ต้านทานสูง กับพันธุ์ทนทานหรือพันธุ์อ่อนแอปานกลางโดยพิจารณาอายุเก็บเกี่ยวให้ใกล้เคียงกันเพื่อลดความเสียหายเมื่อเกิดการระบาดรุนแรง
2. สำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำองค์ประกอบต่างๆ ของระบบนิเวศในแปลงนานำมาวิเคราะห์ตัดสินใจด้วยตนเองในการจัดการแปลงจากสถานการณ์จริง
3. ในแหล่งที่มีการระบาดและควบคุมระดับน้ำในนาได้หลังปักดำหรือหว่าน 2 – 3 สัปดาห์จนถึงระยะตั้งท้องควบคุมน้ำในแปลงนาให้พอดินเปียกหรือมีน้ำเรี่ยผิวดินนาน 7-10 วัน แล้วปล่อยขังทิ้งไว้ให้แห้งเองสลับกันไป จะช่วยลดการระบาดได้
4. ใช้เชื้อราบิวเวอเรีย(เชื้อสด)อัตรา 1 กก.(2 ถุง)ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นในบริเวณที่พบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและควรฉีดพ่นในเวลาเย็น
สารเคมีที่แนะนำให้ใช้ในการกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
1. ข้าวระยะกล้าถึงแตกกอ (อายุ 30 – 45 วัน)
– บูโพรเฟซิน 25 % WP 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
– บูโพรเฟซิน 10 % WP 25 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
– บูโพรเฟซิน 5 % WP + ไอโซโปรคาร์บ 20 % WP 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
2. ข้าวระยะแตกกอเต็มที่
– อีโทเฟนพร็อกซ์ 10 % EC 20 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร
– อีโทเฟนพร็อกซ์ 5 % EC 40 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร
– คาร์โบซัลเฟน 20 % EC 110 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร
– ฟีโนบูคาร์บ 50 % EC 60 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร
– ไฮโซโปรคาร์บ 50 % WP 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
3. ข้าวระยะตั้งท้องถึงออกรวง
– ไดโนทีฟูแรน 10 % WP 15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
– ไทอะมิโทแซม 25 % WG 2 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
– โคลไทอะนิดิน 16 % 6-9 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
– อิมิดาโคลพริด 10 % SL 15 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร
– อีทีโพรล 10 % SC 50 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร
สารเคมีที่ไม่แนะนำให้ใช้ในสารเคมีบางชนิดที่ไม่แนะนำให้ใช้ในนาข้าวเนื่องจากจะทำให้เพลี้ยกระโดดฯ ระบาดเพิ่มขึ้นเป็นสารกลุ่มไพรีทรอย์ด์สังเคราะห์ ได้แก่
1. แอลฟาไซเพอร์เมทริน 10 % EC ชนิดพ่นน้ำ
2. ไซแฮโลทริน แอล 5 % EC ชนิดพ่นน้ำ
3. ไซเพอร์เมทริน 15 % EC 25 % EC ชนิดพ่นน้ำ
(ข้อมูลแนวทางป้องกันและกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจาก กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืชกรมส่งเสริมการเกษตร)