ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา “โดรนเพื่อการเกษตร” กลายเป็นอุปกรณ์อัจฉริยะที่มีบทบาทสำคัญต่อการผลิตทางการเกษตร ซึ่งโดรนประเภทดังกล่าวที่ผลิตโดยจีนได้โบยบินสู่มือเกษตรกรในหลายประเทศ ช่วยให้การผลิตมีประสิทธิภาพ ความสะดวก และความปลอดภัยยิ่งขึ้น
นิกร วัย 43 ปี อดีตพนักงานประจำร้านค้าปลอดภาษีในกรุงเทพฯ ผู้ผันตัวมาทำอาชีพเกษตรกรกับภรรยาที่บ้านเกิดอย่างจังหวัดร้อยเอ็ดหลังเผชิญผลกระทบจากโรคระบาดใหญ่ ดัดแปลงทักษะการถ่ายภาพด้วยโดรนที่มีอยู่เดิมสู่การเป็นนักบินโดรนเพื่อฉีดพ่นยาฆ่าแมลง ปุ๋ย และฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต
“เดี๋ยวนี้คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยอยากทำสวนทำไร่อยู่ต่างจังหวัดกันเท่าไร ทำให้หาคนงานยาก การใช้โดรนจะช่วยลดปริมาณงานและทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างเมื่อก่อนฉีดยาฆ่าแมลงด้วยคนงานจะได้วันละไม่เกิน 10 ไร่ แต่พอใช้โดรนจะฉีดได้วันละ 40-50 ไร่” นิกรกล่าว
นิกรร่วมกับเพื่อนเกษตรกรอีกกว่า 20 คน เปิดให้บริการบินโดรนฉีดพ่นยาฆ่าแมลงในจังหวัดร้อยเอ็ดที่ปลูกข้าวเป็นหลัก รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง โดยแต่ละวันเขาทำงานราว 6 ชั่วโมง เดือนหนึ่งทำงาน 25 วัน ซึ่งรายได้ไม่เพียงสูงกว่าตอนเป็นพนักงานอยู่กรุงเทพฯ แต่ยังมีเวลาอยู่กับครอบครัวเพิ่มขึ้นด้วย
ลัดฟ้าข้ามมายังภาคใต้ที่จังหวัดชุมพร อรุณ เจ้าของสวนทุเรียนขนาด 30 ไร่ หันมาใช้โดรนฉีดพ่นยาฆ่าแมลงเช่นกัน หลังจากกลุ่มคนงานชาวลาวไม่สามารถกลับมาทำงานได้เพราะเกิดโรคระบาดใหญ่ โดยอรุณเผยว่าการใช้โดรนได้ทั้งประสิทธิภาพในการกำจัดศัตรูพืชและความปลอดภัยต่อสุขภาพ
อรุณเล่าว่าเมื่อก่อนคนงานจะเดินฉีดพ่นยาฆ่าแมลงตามต้นไม้ ซึ่งน้ำยาฆ่าแมลงจะตกใส่ตัวคนงานและยังลอยค้างอยู่ในอากาศจนเป็นอันตรายหากสูดดมเข้าร่างกาย แต่โดรนเข้ามาเปลี่ยนแปลงให้การทำงานง่ายขึ้นมาก ทั้งยังประหยัดเงิน ปลอยภัยกว่าเดิม ไม่ต้องเสี่ยงรับสารพิษจากน้ำยาฆ่าแมลง
การใช้โดรนเพื่อการเกษตรได้ช่วยประหยัดต้นทุนการปลูกทุเรียนของอรุณอย่างมาก โดยเขาคำนวณให้ฟังว่าปกติการจ้างคนงานฉีดพ่นยาฆ่าแมลงแต่ละครั้งต้องจ่ายค่าจ้าง 6,000 บาท ซึ่งแต่ละปีต้องฉีดอย่างน้อย 50 ครั้ง พอหันมาใช้โดรนเท่ากับประหยัดเงินได้ปีละ 3 แสนบาท
ทั้งนี้ ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อุปกรณ์การเกษตรสมัยใหม่เป็นที่ต้องการในไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องด้วยหลายปัจจัยอย่างโครงสร้างเกษตรกรเปลี่ยนแปลง ประชากรสูงอายุขยายตัว และต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้นทำให้การเข้ามาของโดรนเพื่อการเกษตรจากจีนช่วยเร่งพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ของไทย
เฉินเทา ผู้อำนวยการฝ่ายขายระดับโลกของแผนกการเกษตรดีเจไอ กล่าวว่าโดรนของดีเจไอเข้าสู่ตลาดไทยในปี 2016 และปรับตัวให้เข้ากับลักษณะการใช้งานในท้องถิ่นจนมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยยอดจำหน่ายพุ่งขึ้นเท่าตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2019 และคาดว่ามีแนวโน้มเติบโตขึ้นอีกในอนาคต
“แผนกการเกษตรของดีเจไอมีส่วนส่งเสริมการพัฒนาการสร้างความทันสมัยของการเกษตรในจีนแล้วเราจึงหวังผลักดันการประสบความสำเร็จนี้สู่ทั่วโลก เพื่อส่งต่อประสบการณ์และเทคโนโลยีของจีน” เฉินกล่าว
ขอบคุณข้อมูล/ภาพ จาก : สำนักข่าวซินหัว (XinhuaThai)