สุดล้ำ! เครื่อง CT-Scan ทุเรียน ประมวลผลด้วยระบบ AI คัด “ไม่อ่อน-ไม่หนอน” 1 ลูกใช้เวลาสแกน 3 วินาที 

ARDA โชว์ความเป็นเจ้าแห่งบัลลังก์ราชาหนาม สร้างเครื่อง CT-Scan ทุเรียนสุดล้ำประมวลผลด้วยระบบ AI คัดทุเรียน “ไม่อ่อน-ไม่หนอน” 1 ลูกใช้เวลาสแกน 3 วินาที 

ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า ทุเรียนเป็นผลไม้ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะตลาดจีนที่มีความต้องการสูง แต่ปัญหาใหญ่ที่พบบ่อยและกระทบต่อการตลาดส่งออกทุเรียน คือ ปัญหาหนอนในผลทุเรียนและการเก็บทุเรียนอ่อนมาจำหน่าย 

อีกทั้งยังพบการลักลอบส่งออกทุเรียนอ่อนไปตลาดต่างประเทศ ซึ่งล้วนแต่เป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ และทำลายความเชื่อมั่นในคุณภาพทุเรียนไทยทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้นหากประเทศไทยมีเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยคัดกรองทุเรียนที่แม่นยำก็จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงและแก้ปัญหาดังกล่าวได้ 

IMG 4488

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ ARDA จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อดำเนินโครงการ “การออกแบบเครื่องคัดแยกความอ่อน-แก่ และหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนด้วยเทคนิค CT-Scan ร่วมกับการประมวลผลผ่านโครงข่ายประสาทเทียมเชิงลึก” เพื่อออกแบบ และพัฒนาเครื่องมือตรวจสอบความอ่อน – แก่ และหนอนในผลทุเรียนด้วยเทคนิค CT-Scan ระดับโรงคัดบรรจุ ที่มีความแม่นยำไม่น้อยกว่าร้อยละ 95  

“ปัจจุบันการประเมินทุเรียนอ่อนแก่จะใช้วิธีฟังเสียงเคาะ ซึ่งต้องใช้ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของเกษตรกร แต่ก็ไม่สามารถยืนยันผลได้ 100% ขณะที่หนอนมีวงจรชีวิตอยู่ข้างในและเติบโตพร้อมผลทุเรียนจึงไม่รู้ว่าทุเรียนแต่ละลูกมีหนอนหรือไม่ เพราะยังไม่มีวิธีตรวจสอบ แต่การใช้เทคนิค CT-Scan ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีความละเอียดสูง ร่วมกับการประมวลผลผ่านโครงข่ายประสาทเทียมเชิงลึกด้วย AI ที่พัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะ จะทำให้สามารถวิเคราะห์ความอ่อนแก่ของทุเรียนได้อย่างแม่นยำและมองเห็นหนอนที่อยู่ภายในผลทุเรียนได้ นับเป็นนวัตกรรมที่จะช่วยคัดกรองและรักษาคุณภาพมาตรฐานทุเรียนไทยที่มีประสิทธิภาพสูงก่อนส่งออกไปสู่ตลาดโลก”

IMG 4484

“ซึ่งหากเราไม่หาวิธีตรวจสอบคุณภาพทุเรียน ไทยอาจเสียแชมป์การส่งออกทุเรียนให้กับประเทศผู้ค้ารายอื่น ที่พยายามแบ่งตลาดส่งออกทุเรียนไปจากประเทศไทย โดยเฉพาะเวียดนามที่ปี 2567 การส่งออกทุเรียนเติบโตขึ้นถึง 7.8 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2565 และบางช่วงเวลามีมูลค่าการส่งออกมากกว่าไทย หรือประเทศมาเลเซียที่กำลังวิจัยพัฒนาพันธุ์ทุเรียนที่คาดว่าจะเป็น Killer of Mon-Thong หรือผลิตมาเพื่อฆ่าหมอนทองของไทย ซึ่งจะทำให้เราสูญเสียศักยภาพในการแข่งขันและเสียรายได้ไปอย่างน่าเสียดาย” ผู้อำนวยการ ARDA กล่าว

IMG 4487

ด้าน รศ.ดร.ชาญชัย ทองโสภา สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำนักวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า เครื่องตรวจ CT-Scan ทุเรียนเกิดขึ้นจากสมมติฐานทางการแพทย์ที่ใช้เครื่องดังกล่าว สแกนร่างกายมนุษย์ที่มีความซับซ้อน จึงคาดว่าน่าจะใช้กับทุเรียนได้เช่นกัน 

“ทางคณะผู้วิจัยฯ จึงได้นำเครื่อง CT-Scan ตกรุ่นปลดระวางจากบริษัทเอกชนที่ให้บริการด้านเครื่องมือแพทย์ มาพัฒนาเป็นเครื่องต้นแบบ และนำผลทุเรียนเข้าไปทดลอง พบว่าสามารถมองเห็นความอ่อน – แก่ และหนอนในทุเรียนได้อย่างชัดเจน”

“โดยเครื่องจะสแกนภาพออกมาหลายเฟรม ในแต่ละเฟรมจะแสดงค่า CT-Numbers ที่บ่งบอกถึงความหนาแน่นของวัตถุ ด้วยการเปรียบเทียบกับความหนาแน่นของน้ำ ส่วนไหนที่มีความหนาแน่นมากกว่าน้ำภาพจะเป็นสีขาว ส่วนที่มีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำ เช่น อากาศ จะมีภาพเป็นสีดำ ซึ่งทุเรียนอ่อนจะมีน้ำเยอะกว่าทุเรียนแก่“

IMG 4485

 ”ปัญหาการทดลองช่วงแรกพบว่า เมื่อเครื่องสแกนทุเรียนแล้ว ตัวสายพานรางเลื่อนผลทุเรียนจะย้อนกลับออกมาทางเดิม ซึ่งทางคณะผู้วิจัยได้มีการปรับแก้ไขให้รางเลื่อนผ่านไปทางเดียว ไม่ต้องย้อนกลับมาทางเดิมอีก เนื่องจากหากต้องนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ที่มีผลผลิตจำนวนมากเครื่องต้องสามารถทำงานได้รวดเร็วและไม่ยุ่งยากซับซ้อน“ 

“ปัจจุบันเครื่องต้นแบบ  CT-Scan สามารถสแกนผลทุเรียนออกมาเป็นภาพที่มีความละเอียดสูง ด้วยระยะห่าง 1 ซม./เฟรม หมายความว่าหากผลทุเรียนยาว 30 ซม. เมื่อผ่านเครื่องสแกนจะได้ภาพออกมา 30 เฟรม ในแต่ละเฟรมห่างกัน 1 ซม. ครอบคลุมพื้นที่ตลอดผล จากนั้นจะนำค่า CT-Numbers ที่ได้ในแต่ละเฟรมมาประมวลผลด้วย AI ซึ่งถูกเขียนและพัฒนาขึ้นใหม่โดยเฉพาะ ให้สามารถจำแนกลักษณะความสุกและตรวจหาหนอนภายในลูกทุเรียนได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการคำนวณระยะเวลาขนส่งในการส่งออกให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ” 

“การตรวจสอบยังใช้เวลาเพียง 3 วินาทีต่อลูก หรือ 1,200 ลูก/ชั่วโมง ไม่ว่าจะวางผลทุเรียนเข้าสู่เครื่องสแกนลักษณะใด ระบบดังกล่าวก็สามารถสแกนได้ ซึ่งเป็นการช่วยลดเวลาและลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพในการคัดแยกทุเรียนให้กับล้ง ด้านต้นทุนราคาถึงแม้เครื่อง CT-Scan ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการแพทย์จะมีราคาประมาณ 10 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะมีเครื่องตกรุ่นที่ถูกปลดระวางทิ้งไว้ไม่ได้ใช้งานให้สามารถนำมาพัฒนาเป็นเครื่อง CT-Scan สำหรับใช้ตรวจสอบทุเรียน โดยคาดว่าจะมีราคาต่อเครื่องไม่เกิน 2 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นราคาที่เหมาะสมและคุ้มค่าสำหรับโรงคัดแยกผลไม้หรือล้งจะนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ โดยเครื่อง CT-Scan นี้ยังสามารถใช้กับผลไม้ชนิดอื่นได้แทบทุกชนิด ไม่เฉพาะกับแค่ทุเรียนเท่านั้น”

IMG 4490

ผอ. ARDA กล่าวอีกว่า นวัตกรรม CT-Scan ทุเรียนด้วย AI ภายใต้โครงการวิจัยนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยยกระดับมาตรฐานการส่งออกทุเรียนของไทย ซึ่งจะเป็นการสร้างความได้เปรียบในตลาดโลก ความลดความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการถูกตีกลับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ อีกทั้งเป็นการสร้างการยอมรับ และเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประเทศผู้นำเข้าที่จะส่งผลต่อปริมาณการสั่งซื้อทุเรียนและผลไม้อื่น ๆ ของไทยในระยะยาวต่อไป 

สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) โทรศัพท์. 02 579 7435 

IMG 4483

ประเทศไทยถูกขนานนามว่าเป็น “ราชาแห่งทุเรียน” มีบทบาทสำคัญในการส่งออกทุเรียนไปยังตลาดโลก ปีละไม่ต่ำกว่า 800,000 ตัน อยู่ในภาคตะวันออกของไทย 300,000 ตัน ภาคใต้ประมาณ 500,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท โดยตลาดส่งออกหลักของไทยยังคงเป็นประเทศจีน ที่มีการนำเข้าปีละไม่ต่ำกว่า 700,000 ตัน 

และถึงแม้ทุเรียนเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญของไทย แต่การคัดแยกระดับความอ่อน-แก่และการตรวจสอบปัญหาหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนยังคงเป็นความท้าทายสำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการไทย ซึ่งหากไทยไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ นั่นไม่เพียงแต่จะเสียแชมป์ส่งออกทุเรียนเบอร์ 1 ของโลก แต่ยังเป็นการสูญรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาล  

IMG 4489