“ละมุดสุโขทัย”หรือ Sukhothai Sapodilla หรือ Lamut Sukhothai หมายถึง ละมุดสายพันธุ์มะกอก ที่มีลักษณะผลยาวรีทรงไข่ ผิวเปลือกบางมีสีน้ำตาลอมเหลือง เนื้อแห้ง กรอบ ละเอียดไม่เป็นทราย สีน้ำตาลอมแดง มีกลิ่นหอม รสชาติหวาน ปลูกในพื้นที่อำเภอสวรรคโลก 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลท่าทอง ตำบลปากน้ำ ตำบลคลองกระจง ตำบลเมืองบางยม ตำบลย่านยาว และอำเภอศรีสำโรง 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลลสามเรือน ตำบลวัดเกาะ ของจังหวัดสุโขทัย ทั้งนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI ) ” ละมุดสุโขทัย” เมื่อ 29 มกราคม พ.ศ. 2568
ลักษณะของสินค้า
(1) พันธุ์ : พันธุ์มะกอก
(2) ลักษณะทางกายภาพ
- รูปทรง ผลยาวรีทรงไข่
- ผิวเปลือก บาง มีสีน้ำตาลอมเหลือง
- เนื้อ แห้งละเอียดไม่เป็นทราย สีน้ำตาลอมแดง กรอบ กลิ่นหอม
- เมล็ด เล็กลีบ สีดำ
- รสชาติ หวาน
(3) ลักษณะทางเคมี
-ค่าความหวานอยู่ในช่วง 20 – 25 องศาบริกซ์
กระบวนการผลิต
การปลูก
(1) กิ่งพันธุ์ละมุด ต้องเป็นกิ่งพันธุ์ที่ได้จากการตอนกิ่งละมุดสายพันธุ์มะกอก ในพื้นที่ตำบลท่าทอง ตำบลปากน้ำ ตำบลคลองกระจง ตำบลเมืองบางยม ตำบลย่านยาว อำเภอสวรรคโลก และตำบลสามเรือน ตำบลวัดเกาะ อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัข
(2) สภาพพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูก ปลูกบริเวณลุ่มแม่น้ำยมทั้งสายเก่าและสายใหม่ พื้นที่มีลักษณะดินร่วนปนทราย
(3) การเตรียมแปลงปลูก ทำการขุดหลุมปลูกขนาด 50 เซนติเมตร ความลึกประมาณ 30 เซนติเมตร ระยะหลุม 3 x 3 เมตร และทำการรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก ประมาณ 3 – 5 กำมือต่อหลุม ร่วมกับปุ๋ยเคมีแล้วคลุกผสมให้เข้ากันกับดินใส่ก้นหลุม โดยให้ก้นหลุมสูงขึ้นมาเล็กน้อยพอเหมาะสำหรับนำกล้าลงปลูก
(4) วางกล้าพันธุ์ตรงกลางหลุม โดยพยายามให้ดินติดกิ่งตอนให้มาก ตั้งให้ต้นตรง เมื่อกลบดินแล้วกะให้ดินเสมอกับตุ้มของกิ่งตอน การกลบดินจะใช้ดินละเอียดกลบรากให้แน่น แล้วปักหลักให้ชิดกับลำต้น ให้หลักหยั่งลงไปในดินแล้วผูกกิ่งตอนให้ติดกับหลัก เพื่อกันลมโยก และรดน้ำให้ชุ่ม
การดูแลรักษา
(1) การให้น้ำ ละมุดสุโขทัยเป็นผลไม้ที่ต้องการน้ำ โดยเฉพาะช่วงออกดอกและดอกบานจะให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ช่วงผลแก่ก่อนเก็บเกี่ยวจะลดการให้น้ำเพื่อเร่งความหวานและความกรอบของละมุด
(2) การใส่ปุ๋ย จะเปลี่ยนไปตามระยะเวลาของความต้องการ คือ หลังเก็บผลผลิตจะใส่ปุ๋ยคอกพร้อมปุ๋ยเคมีเพื่อช่วยบำรุงต้นก่อนออกดอก และใส่ปุ๋ยเคมีเพื่อช่วยให้ต้นมีการเก็บสะสมอาหารในการสร้างตาดอก จากนั้นใส่ปุ๋ยเคมีในช่วงผลเริ่มแก่เพื่อปรับปรุงคุณภาพเนื้อ
(3) การตัดแต่งกิ่ง ตัดแต่งกิ่งหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตละมุดสุโขทัยรุ่นแรกไปแล้ว โดยตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรค กิ่งแห้ง กิ่งฉีกหักเสียหาย เนื่องจากการเกี่ยว และกิ่งแขนง กิ่งกระโดง ในทรงพุ่ม เพื่อควบคุมทรงพุ่มและความสูงของต้น เพื่อสะดวกในการดูแลรักษา เก็บเกี่ยวผลผลิต และช่วยบำรุงต้นให้มีความสมบูรณ์
การเก็บเกี่ยว
(1) ละมุดจะเริ่มให้ผลผลิตตั้งแต่ปีที่ 3 และจะเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็น 2 ช่วง คือ ในช่วงเดือนตุลาคม -เดือนธันวาคม และในช่วงเดือนมกราคม – เดือนมีนาคม
(2) การเก็บเกี่ยว สังเกตจากจุกแหลมของยอดเกสรตัวเมียที่ติดอยู่กับบริเวณผลจะร่วงหายไปไคลบนผิวเปลือกจะหลุดร่วงง่ายเมื่อถูเบาๆ และสังเกตสีเปลือกผลจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีน้ำตาลอมเหลืองหรือสีน้ำตาลเข้มเมื่อผลแก่
(3) เก็บเกี่ยวโดยใช้มือเก็บ หรือใช้สวิงหรือตะกร้อ
(4) การบ่ม เมื่อต้องการบ่มเป็นการทำให้ละมุดสุกสม่ำเสมอพร้อมๆ กัน และมีรสหวาน ไม่ฝาด
ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่ส่วนใหญ่ของตำบลท่าทอง ตำบลปากน้ำ ตำบลคลองกระจง ตำบลเมืองบางยม ตำบลย่านยาว อำเภอสวรรคโลก และตำบลสามเรือน ตำบลวัดเกาะ อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย เป็นที่ราบลุ่มมีแม่น้ำยมไหลผ่าน พื้นที่เพาะปลูกถูกน้ำท่วมขังในฤดูน้ำหลาก ทำให้มีการเกิดแร่ธาตุจากตะกอนดินน้ำพัดพา โดยเฉพาะแร่ธาตุโพแทสเซียมและซิลิกา โดยมีภูมิสัญฐานเป็นตะพักลำน้ำระดับกลาง มีวัตถุต้นกำเนิดเกิดจากตะกอนน้ำพาบริเวณตะพักลำน้ำระดับกลาง ลักษณะคุณสมสมบัติของดินเป็นดินลึกมาก ดินบนเป็นดินร่วนปนดินเหนียวหรือดินร่วนเหนียวปนทรายแป้งสีน้ำตาลปนเทาถึงสีเทาปนน้ำตาลอ่อน มีจุดประสีน้ำตาลแก่หรือสีน้ำตาลปนเหลือง ค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดินมีลักษณะเป็นกรดจัดถึงเป็นกรดเล็กน้อย ในขณะดินล่างเป็นดินเหนียว สีเทาหรือสีเทาอ่อน มีจุดประสีน้ำตาลแก่หรือสีน้ำตาลปนเหลืองหรือสีแดงปนเหลือง และมีศิลาแลงอ่อนสีแดงร้อยละ 5 – 50 โดยประมาณ อาจพบก้อนลูกรังปะปนอยู่บ้าง ค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดิน มีลักษณะเป็นกรดปานกลางถึงเป็นด่างปานกลาง
ลักษณะภูมิอากาศ
ด้านสภาพภูมิอากาศของจังหวัดสุโขทัย มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปตามอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ แบ่งออกได้เป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว มีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 27.6 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 33.0 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 20 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 1,208.88 มิลลิเมตร
จากสภาพภูมิอากาศที่มีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยตลอดปีอยู่ในช่วง 20-30 องศาเซลเซียส เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการแทงช่อดอก การติดผล และระยะเวลาการสุกของผลละมุดสุโขทัย ทำให้ละมุดสุโขทัยสามารถเจริญเติบโตได้ในพื้นที่มีแสงแดดรำไร จนถึงแสงแดดกลางแจ้ง
จากลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศดังกล่าว ส่งผลให้ละมุดสุโขทัยที่ปลูกในพื้นที่ดังกล่าวสามารถเจริญเติบโตได้ให้ผลผลิตสูง เนื้อแห้ง กรอบ และมีรสชาติหวาน
ประวัติความเป็นมา
ละมุดสุโขทัย เป็นละมุดพันธุ์มะกอก ซึ่งเป็นพันธุ์ดั้งเดิมโบราณและถือว่าเป็นไม้ผลประจำถิ่นในพื้นที่ที่ช่วยในเรื่องระบบนิเวศเศรษฐกิจ และทนต่อสภาพน้ำท่วมขังและสภาพแห้งแล้งได้ดี มีการปลูกละมุดมาเป็นระยะเวลานานเกือบ 100 ปี แหล่งที่ปลูกละมุดมากที่สุด คือ ตำบลท่าทอง ตำบลคลองกระจง ตำบลเมืองบางยม อำเภอสวรรคโลก ดั่งคำขวัญประจำตำบลท่าทอง ที่กล่าววา “ถิ่นละมุดสุดหวาน ละมุดท่าทอง”
กล่าวได้ว่าจังหวัดสุโขทัย เป็นแหล่งผลิตละมุดหวานแหล่งหนึ่งของประเทศ มีพื้นที่ปลูกมากกว่า 5,000 ไร่ ในอำเภอสวรรคโลกและอำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย อีกทั้งได้มีการเรียนรู้คัดเลือกสายพันธุ์ และการขยายกิ่งพันธุ์ จากภูมิปัญญาอย่างยาวนาน ส่งผลให้มีการซื้อขายกิ่งพันธุ์ไปยังต่างจังหวัดมากมายในนาม “ละมุดสุโขทัย” ผนวกกับภูมิปัญญาการบ่มละมุดที่เลือกใช้ใบตองกล้วยตานีที่ปลูกในพื้นที่มีความหนา เหนียวไม่กรอบ ใช้สำหรับการรองบ่มเพื่อช่วยรักษาสภาพอุณหภูมิการบ่มได้ดี ทำให้ละมุดสุกสม่ำเสมอ จึงถือได้ว่าละมุดสุโขทัยเป็นผลไม้ที่อยู่คู่กับพื้นที่มาอย่างยาวนาน และรู้จักกันแพร่หลายทั่วไป
ทั้งนี้ขอบเขตพื้นที่การผลิตละมุดสุโขทัย ครอบคลุมพื้นที่อำเภอสวรรคโลก 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลท่าทอง ตำบลปากน้ำ ตำบลคลองกระจง ตำบลเมืองบางยม ตำบลย่านยาว และอำเภอศรีสำโรง 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลสามเรือน ตำบลวัดเกาะ ของจังหวัดสุโขทัย