ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้ นายอนุชา นาคาศัยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยถ้ำแข้ ต.คำเจริญ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี โอกาสนี้ นายอนุชา พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ร่วมกันปล่อยพันธุ์ปลาเพื่อเพิ่มผลผลิตทรัพยากรสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติให้คงความอุดมสมบูรณ์ และเพื่อเป็นแหล่งอาหารโปรตีนของประชาชน เป็นแหล่งประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายอนุชา กล่าวว่า พื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยถ้ำแข้นับว่าเป็นพื้นที่ที่สร้างประโยชน์ และเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญให้กับพี่น้องอำเภอตระการพืชผล ซึ่งเป็นแหล่งผลิตทางการเกษตรแหล่งใหญ่ที่สำคัญ จำเป็นต้องใช้น้ำในการเพาะปลูก และอุปโภค-บริโภค อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าเกษตรกรประสบปัญหาปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการ กรมชลประทานจึงได้มีแผนปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน ทั้งนี้ ตนจะนำเรื่องดังกล่าวรายงานให้ รมว.เกษตรฯ รับทราบ เพื่อร่วมกันเร่งหาแนวทางแก้ปัญหาต่อไป
นายอนุชา กล่าวขอบคุณผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายชูวิทย์ กอเจริญยศ) ที่ได้ช่วยประสานงานในพื้นที่เพื่อให้ปัญหาของพี่น้องเกษตรกรได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที เป็นการทำงานแบบบูรณาการขับเคลื่อนภาคเกษตรให้มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ขอฝากให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ต้องร่วมกันตระหนักถึงแนวทางที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรได้ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งเราต้องช่วยกัน คำนึงถึงอนาคตของพี่น้องเกษตรกรไทย จะทำอย่างไรให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง ร่ำรวย หลุดพ้นจากปัญหาหนี้สิน ซึ่งจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว มาทำอาชีพเสริม โดยเฉพาะการเลี้ยงปศุสัตว์ เช่น โค ที่สามารถสร้างรายได้และมีความเสี่ยงน้อยกว่าการปลูกพืชผล ทั้งหมดนี้ เราต้องร่วมกันถอดบทเรียนจากอดีตที่ผ่านมา และถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
สำหรับอ่างเก็บน้ำห้วยถ้ำแข้ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อปี 2529 ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของโครงการชลประทานอุบลราชธานี ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำห้วยถ้ำแข้ก่อสร้างมาเป็นระยะเวลานาน ก่อให้เกิดตะกอนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งมีการขยายตัวของชุมชน ที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรกรรมที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และการเกษตรไม่เพียงพอต่อความต้องการของราษฎรในพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำประจำทุกปี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำ
กรมชลประทานจึงได้มีแผนงานปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำโดยการขุดปริมาณดิน 1 ล้าน ลบ.ม. พร้อมอาคารประกอบ ในปี 2566 ปริมาณ ปรับปรุงอาคารระบายน้ำล้น เพิ่มระดับเก็บกักน้ำ ปรับปรุงถนนลาดยาง และปรับปรุงภูมิทัศน์พร้อมอาคารประกอบ
“เมื่อแผนงานปรับปรุงแล้วเสร็จ ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ สามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักจากเดิม 13.7 ล้าน ลบ.ม. เป็น 17.5 ล้าน ลบ.ม. สามารถสนับสนุนแหล่งน้ำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 2 แห่ง พื้นที่ชลประทาน 2,250 ไร่ และเป็นแหล่งน้ำต้นทุนและเพิ่มศักยภาพในการผลิตประปา เพื่ออุปโภคบริโภคแก่ราษฎรสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกฤดูฝน ประมาณ 11,614 ไร่
อีกทั้งยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดของชุมชน รวมถึงเป็นแหล่งกักเก็บเพื่อชะลอน้ำที่จะส่งผลกระทบด้านท้าย ที่เกิดจากอุทกภัยอีกด้วย” นายอนุชาย้ำ