ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์และแนวทางแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมี นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด่านตรวจประมง ด่านตรวจพืช ด่านกักกันสัตว์ประจวบคีรีขันธ์ ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการ ฝ่ายความมั่นคง ศุลกากร ผู้แทนจากหอการค้า และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ อาคารด่านพรมแดนสิงขร ต.ตลองวาฬ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่า นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงพี่น้องเกษตรกร โดยเพราะปัญหาการลักลอบสินค้าเกษตรเถื่อนที่ผิดกฎหมายซึ่งสร้างผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรไทย จึงได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการอย่างเข้มงวดในการตรวจสอบ กักกัน เร่งรัดดำเนินคดีและปราบปรามสินค้าเกษตรเถื่อนผิดกฎหมาย ในส่วนของปัญหาการนำเข้าส่งออกสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ผ่านจุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร ซึ่งเป็นด่านบริเวณชายแดนไทยที่ติดกับประเทศเมียนมา ประเภทจุดผ่อนปรนพิเศษ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบ รวมถึงฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ร่วมกันหารือระหว่างภาครัฐ และผู้ประกอบการ ร่วมกันหามาตรการแก้ไขปัญหาร่วมกันไม่ให้ติดขัดหรือกระทบกับทุกฝ่าย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร เป็นจุดให้บริการการขนถ่ายสินค้าข้ามแดนเท่านั้น ภายใต้เงื่อนไขของจุดผ่อนปรนพิเศษ ซึ่งในเรื่องนี้ตนได้เล็งเห็นศักยภาพของจุดผ่อนปรนพิเศษแห่งนี้ โดยจะเตรียมผลักดันให้เป็นด่านถาวรต่อไปในอนาคต เพื่อเป็นอีกเส้นทางในการทำการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านและจะนำเรียนนายกรัฐมนตรีให้รับทราบต่อไป
ทั้งนี้ ข้อมูลปริมาณการค้าชายแดนจุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร ในปี 2566 พบว่า มีมูลค่าการค้ารวม 2,413 ล้านบาท แบ่งเป็น มูลค่านำเข้า 2,228 ล้านบาท และมูลค่าส่งออก 185 ล้านบาท สำหรับสินค้าที่นำเข้าร้อยละ 90 ส่วนใหญ่เป็นสินค้าประมง ได้แก่ กุ้งมังกร ปูทะเล หอยแครง ปลา และสัตว์น้ำ เมืองมะริด ประเทศเมียนมา ส่วนสินค้าส่งออกไปเมียนมา เป็นสินค้าประเภทสิ่งของอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในการดำรงชีพ
ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าวต่อไปว่า สาเหตุที่มีการนำเข้าสินค้าประมงในปริมาณสูง เนื่องจากทรัพยากรสัตว์น้ำของประเทศเมียนมาในธรรมชาติมีปริมาณที่สูงและสัตว์น้ำบางชนิดในประเทศไทยมีไม่เพียงพอกับความต้องการ เช่น กุ้งมังกร กุ้งก้ามกาม ปูทะเล เป็นต้น รวมถึงการผ่านช่องทางด่านสิงขร เป็นพื้นที่อยู่ใกล้แหล่งทำการประมงของเมียนมา อีกทั้ง การขนส่งทางเรือปกติจะเข้าทางระนอง มีการขนส่งที่หลายขั้นตอน ซึ่งปัจจุบันนี้ผู้ประกอบการที่นำเข้าในพื้นที่จังหวัดระนองได้มาขออนุญาตนำเข้าที่ด่านสิงขรซึ่งเป็นการขนส่งทางบกที่สะดวกกว่า รวมถึงการตรวจสอบสินค้าของเจ้าหน้าที่ที่ด่านสิงขร (โดยเฉพาะด่านตรวจประมง) ยังไม่เข้มงวดเท่าที่ควร เนื่องจากปัญหาบุคลาการน้อยและข้อจำกัดของพื้นที่ อย่างไรก็ตาม แนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ได้มีการเสนอให้กรมประมงวางมาตรการในการเปิดตรวจสินค้าของด่านฯ ชายแดน ให้เข้มงวดรัดกุมและมีมาตรฐานเดียวกันทุกด่าน ตลอดจนควรมีสถานที่เปิดตรวจสินค้าที่อำนวยความสะดวกในการขนถ่าย และเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ได้ตามกฎหมายอย่างเต็มที่ เนื่องจากปัจจุบันเปิดตรวจบริเวณ No man’s Land ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจตามหน้าที่ที่จะบังคับใช้กฎหมาย หากเจอสินค้าต้องห้ามหรือไม่ได้ขออนุญาต เพียงแต่ให้ผู้ประกอบการนำกลับฝั่งเมียนมา