นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ได้หารือกับ นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย นายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย นางสาวแอมเบอร์ พาร์ ที่ปรึกษาด้านการเกษตรสถานเอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลีย ประจำประเทศไทย มาตรการป้องกันวัชพืชติดรถยนต์ส่งออกไปยังประเทศออสเตรเลีย ซึ่งตลาดส่งออกรถยนต์ไปออสเตรเลียเป็นตลาดใหญ่ของประเทศไทย ในปี 2565 สร้างมูลค่าการส่งออก 2 แสนล้านบาท
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เพื่อเป็นการขยายศักยภาพอุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศไทยในตลาดออสเตรเลีย ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย จึงได้สั่งการให้ ด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง กรมวิชาการเกษตร ประสานงานกับ กระทรวงเกษตร ประมง และป่าไม้ ออสเตรเลีย (Department of Agriculture, Fisheries and Forestry: DAFF)ให้จัดส่งเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญมายังประเทศไทย เพื่อร่วมหารือแก้ไขปัญหาดังกล่าว ระหว่างวันที่ 6-17 พฤศจิกายน 2566
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 นางสาวแอมเบอร์ พาร์ ที่ปรึกษาด้านการเกษตรสถานเอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลีย ประจำประเทศไทย ร่วมกับ นายโรเบิร์ต โดรอส Assistant Director, Compliance Partnerships Capliance Partnerships Capability and Engagement, Compliance & Enforcement Division และ นายโจนาทาน เคอแรน ผู้แทนจากกระทรวงเกษตร ประมง และป่าไม้ ออสเตรเลีย (Department of Agriculture, Fisheries and Forestry: DAFF) เข้าเยี่ยมคารวะ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชุมหารือโครงการตรวจสอบวัชพืชในรถยนต์ใหม่เพื่อการส่งออกไปออสเตรเลีย (Moto Vehicle Inspection Program :MVIP) ในปี 2552 กรมวิชาการเกษตรของไทย และกระทรวงเกษตร ประมง และป่าไม้ ออสเตรเลีย ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงการตรวจสอบวัชพืชในรถยนต์เพื่อส่งออก (MVIP) และกรมวิชาการเกษตรมีประกาศเรื่อง การรับรองการปลอดวัชพืชในรถยนต์ที่ส่งออกไปยังประเทศออสเตรเลีย พ.ศ. 2552 ซึ่งผู้ตรวจสอบรถยนต์เพื่อส่งออกไปออสเตรเลีย ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบวัชพืชในรถยนต์ และเมื่อตรวจสอบแล้ว สามารถออกใบอนุญาตได้
ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตรจะเป็นผู้ดูแลกระบวนการทำงาน และควบคุมให้ระบบสามารถดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ตรวจสอบรถยนต์จะต้องผ่านการอบรมและขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร ซี่งมีอายุ 5 ปี และตรวจติดตามร่วมกับหน่วยงานกักกัน และตรวจสอบของออสเตรเลีย ปัจจุบันมีผู้ประกอบการรับจ้างตรวจสอบรถยนต์จำนวน 13 ราย และมีพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ผ่านการอบรมเป็นผู้ตรวจสอบรถยนต์จำนวน 72 ราย
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในช่วงสถานการณ์โรคโควิคระบาด ได้มีการตรวจพบวัชพืชในรถยนต์ใหม่ที่ส่งออกจากไทยไปยังออสเตรเลียเพิ่มสูงขึ้น จึงมีการประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างกันในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยปัจจุบันสถานการณ์ดีขึ้นมากแล้ว และเพื่อให้เป็น “World Best Practice” มาตรการป้องกันวัชพืชติดรถยนต์ส่งออก กรมวิชาการเกษตรมีการจัดอบรมการตรวจสอบวัชพืชให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการ อาทิ ผู้ตรวจสอบรถยนต์ กรมสำนักศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง และบริษัทผู้ส่งออกออกรถยนต์ของไทยที่ส่งออกรถยนต์ใหม่ไปยังออสเตรเลีย 8 ราย คือ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด, บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย จำกัด, บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ ประเทศไทย จํากัด, บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด
โครงการ”MVIP ถือเป็นโครงการร่วมดำเนินการระหว่างรัฐบาลสองประเทศ ซึ่งจะมีภาคอุตสาหกรรม ผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ให้บริการท่าเรือ ผู้ให้บริการสายเรือร่วมด้วย โดยบริษัทที่เข้าร่วมโครงการจะต้องผ่านการขึ้นทะเบียน และการตรวจประเมินเพื่อให้มั่นใจว่าสามารถดำเนินการได้ตามเงื่อนไขของโครงการทุกครั้งที่มีการส่งออกโดยจะต้องส่งรายงานการตรวจรถยนต์ที่ได้รับการตรวจสอบให้ทางออสเตรเลีย ออสเตรเลียชมเชยประเทศไทยที่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งออสเตรเลียจะผลักดันให้ประเทศไทย เป็น “World Best Practice” ในธุรกิจยานยนต์ โดยจะนำแนวทางความสำเร็จในการปฏิบัติของประเทศไทยเป็นต้นแบบในการนำไปขยายผลกับประเทศผู้ส่งออกรายอื่นๆ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน นำหลักการเดียวกันกับไทยไปใช้ปฏิบัติเพื่อส่งออกไปยังออสเตรเลีย
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า ประเทศไทยและออสเตรเลียได้ฉลองครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูต 70 ปีเมื่อเดือน ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งตลอดมาได้มีการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศครอบคลุมหลายมิติ ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร ในฐานะหน่วยงานอารักขาพืชของประเทศไทย ได้นำนโยบายของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว. เกษตรฯ ในด้านการทำการเกษตรที่ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญต่อการดำเนินการตามมาตรฐานสุขอนามัยพืช ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างสองประเทศจะส่งเสริมการปกป้องความมั่นคงทางชีวภาพของทั้งสองประเทศร่วมกัน และเป็นแนวทางความร่วมมือที่จะอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกันได้ในที่สุด