วันที่ 19 เมษายน 65 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อดำเนินโครงการช่วยเหลือ “เกษตรกร” ที่ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) วงเงินรวมทั้งสิ้น 2,054,053,900 บาท ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ
สาระสำคัญ
โครงการช่วยเหลือ “เกษตรกร” ที่ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย 5 โครงการย่อย ดังนี้
1. โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน โดยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
วัตถุประสงค์ : เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานรากของชุมชน
กลุ่มเป้าหมาย : เครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จำนวน 3,500 กลุ่ม
2. โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน โดยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
วัตถุประสงค์ : เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน การสร้างนวัตกรรมและคุณค่าตราสินค้าเพื่อสนับสนุนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนของเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
กลุ่มเป้าหมาย : กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 1,200 กลุ่ม
3. โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม”ด้านเกษตรกรรม”และสมุนไพร สร้างความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพสู่ชุมชน เพื่อเพิ่มมูลค่าเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากในภาวะวิกฤตโควิด-19 โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
วัตถุประสงค์ : เพื่อดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านเกษตรกรรมและสมุนไพร สร้างความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพของชุมชน สร้างแหล่งเรียนรู้ด้านเกษตรกรรมและสมุนไพร
กลุ่มเป้าหมาย : “เกษตรกร” ชุมชน และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 3,700 กลุ่ม
4. โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้แก่ “เกษตรกรไทย” เฝ้าวิกฤติโควิด – 19 ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมสมัยใหม่ (Modern Agriculture – BCG) โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้
วัตถุประสงค์ : เพื่อสร้างรายได้จากภาคการผลิตและภาคบริการที่ทันสมัยในพื้นที่เป้าหมาย กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างรายได้ ด้วยการบริโภค และการใช้จ่ายภายในประเทศ สร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนภาคการผลิตและบริการที่ทันสมัย
กลุ่มเป้าหมาย : หมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น จำนวน 5,001 กลุ่ม
5. โครงการวิจัยและพัฒนาการสร้างอาชีพ สร้างรายได้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก จากผลกระทบการระบาดของโคโรนาไวรัส 2019 (โควิด – 19) สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม
วัตถุประสงค์ : เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม กระตุ้นการลงทุนและการบริโภค พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน เน้นการพึ่งพาตนเอง สร้างความเข้มแข็งจากภายในและเติบโตอย่างมีคุณภาพ
กลุ่มเป้าหมาย : กลุ่มวิสาหกิจชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน กลุ่มสหกรณ์การเกษตร และกลุ่ม OTOP ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ จำนวน 3,300 กลุ่ม