กรมส่งเสริมสหกรณ์ มุ่งเดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้สินสมาชิกสหกรณ์ สร้างกลุ่มอาชีพสนับสนุนการแปรรูปสินค้าเกษตร เข้าถึงเงินทุน มีเครื่องมืออุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทันสมัย ปรับปรุงกระบวนการแปรรูป สร้างมูลค่าสินค้าเกษตร ยกระดับรายได้ ตามนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้สมาชิกสหกรณ์” พร้อมป้องกันปราบปรามการทุจริตในสหกรณ์ ควบคู่การจัดตั้งสหกรณ์ที่มีคุณภาพเป็นองค์กรหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องเกษตรกร
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงแผนงานที่จะดำเนินการขับเคลื่อนในปี 2567 ว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์มีแผนงานสำคัญที่จะพัฒนาสหกรณ์และดำเนินการขับเคลื่อนมาตรการการพักหนี้เกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาล นำมาขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จ ซึ่งทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้สำรวจจำนวนหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ที่จะสามารถเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ตามนโยบายของรัฐบาล และเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ให้กับพี่น้องสมาชิกสหกรณ์ระหว่างการพักหนี้ เพื่อให้เกษตรกรเหล่านี้มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถที่จะแก้ไขปัญหาหนี้สินได้อย่างยั่งยืน ซึ่งในปี 2566 ที่ผ่าน กรมฯ ได้นำร่องทดลองทำไปแล้ว จากยอดหนี้ประมาณ 5,800 ล้านบาท สามารถลดหนี้ให้กับเกษตรกร ปลดหนี้ไปได้ 4,700 ล้านกว่าบาท ซึ่งจะนำมาขับเคลื่อนต่อไป ในปี 2567 โดยที่ขมวดเข้าไปกับนโยบายของรัฐบาล
นอกจากนี้ เรื่องการจัดที่ดินทำกินให้แก่สมาชิกนิคมสหกรณ์ ในพื้นที่นิคมสหกรณ์การเช่า 13 นิคม 14 ป่า เพื่อออกเอกสารสิทธิ์ กสน.3 และ กสน.5 ให้แก่เกษตรกรสมาชิกนิคมสหกรณ์ และการสิ้นสภาพนิคมสหกรณ์ ซึ่งในเรื่องนี้เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้พี่น้องประชาชนมีโฉนด ซึ่งเป็นหลักทรัพย์ที่มั่นคงในการประกอบอาชีพ รวมถึงการนำไปเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขอสินเชื่อจากสหกรณ์เพื่อมาใช้ประกอบอาชีพ สามารถใช้หลักทรัพย์ตัวนี้เป็นหลักประกันในการเอาสินเชื่อมาเพื่อสร้างรายได้ในที่ดินที่ได้รับจัดสรรไป เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 1,500,000 ไร่ มีพี่น้องประชาชนที่เกี่ยวข้องที่เป็นสมาชิกสหกรณ์อยู่เดิมแล้วประมาณ 160,000 ราย ซึ่งเรื่องนี้จะขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมให้ได้โดยเร็วที่สุด อีกทั้ง นโยบายการสนับสนุนการแปรรูปสินค้าเกษตรและการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร ส่งเสริมให้สหกรณ์ที่ได้รับสนับสนุนอุปกรณ์การตลาดใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ และสนับสนุนอุปกรณ์การตลาดที่จำเป็น พร้อมทั้งสนับสนุนกลุ่มอาชีพ สมาชิกสหกรณ์มีการแปรรูปสินค้าเกษตร เกิดการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนระหว่างเครือข่ายสหกรณ์เป็นห่วงโซ่อย่างครบวงจร ทั้งการผลิต การรวบรวม การแปรรูป และการตลาดเพื่อกระจายสินค้าคุณภาพของสหกรณ์ อาทิ ผัก ผลไม้ ข้าวสาร มากกว่า 100 ล้านบาท/จังหวัด โดยทำต่อเนื่องตลอดทั้งปี
อีกทั้ง เรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจจริตในสหกรณ์ ตั้งเป้าหมายว่าจะไม่ให้เกิดการทุจริตขึ้นในสหกรณ์ป้องกันอย่างเต็มที่โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งโปรแกรมบัญชีของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ซึ่งมีการทำงานร่วมกันระหว่าง 2 หน่วยงาน และเรื่องของการสนับสนุนให้สหกรณ์ทุกแห่งมีแอพพลิเคชันเพื่อที่จะตรวจสอบถานะทางการเงินของสหกรณ์ และสมาชิกสหกรณ์ โดยเฉพาะสหกรณ์ทุกประเภทที่มีทุนการดำเนินงาน 100 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องมีแอพพลิเคชันให้บริการสมาชิก 90% ใช้ตรวจสอบสถานะทางบัญชีของตนเอง ตรวจสอบสถานะของสหกรณ์ รวมไปถึงสหกรณ์ที่ขาดทุนสะสม ต้องตั้งผู้ตรวจการสหกรณ์เข้าไปกำกับดูแล และไม่ให้เกิดการทุจริต มีการจัดตั้งสหกรณ์อย่างมีคุณภาพ การควบรวมสหกรณ์ขนาดเล็กให้เป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพมีความเข้มแข็ง ส่งเสริมสหกรณ์ที่มีอยู่ให้เติบโตขึ้นไปจนถึงการพัฒนาบุคลากร
ทั้งผู้จัดการสหกรณ์ เจ้าหน้าที่สหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้พัฒนาตนเองในหลักสูตรที่จำเป็นตามความต้องการของตนเองให้มีความรู้ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ เข้าไปขับเคลื่อน ผลักดัน สร้างความรู้แก่สหกรณ์อย่างรอบด้าน ทั้งด้านการผลิต การบริหาร การแปรรูป การตลาดและนวัตกรรมเทคโนโลยี และเพิ่มรายได้ให้สมาชิกสหกรณ์ พร้อมกับการมีธรรมาภิบาล เพื่อพัฒนาศักยภาพสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง เป็นองค์กรหลักสำคัญที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาให้มวลสมาชิกได้อย่างแท้จริง ตลอดจนการให้ความสําคัญกับโครงการพระราชดำริ และโครงการหลวง ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรมฯ พร้อมสนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อให้บุคลากรของกรมส่งเสริมสหกรณ์สามารถขับเคลื่อนงานตามนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง มีธรรมาภิบาล ยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนให้ดีขึ้นต่อไป