นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานเปิด “การสัมมนาการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมการเกษตร” ครบรอบ 56 ปี วันที่ 21 ตุลาคม 2566 โดยมี นายพีรพันธ์ คอทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะผู้บริหารและข้าราชการกรมส่งเสริมการเกษตร เข้าร่วมงาน ณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น จังหวัดนนทบุรี
นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวแสดงความยินดีต่อการครบรอบ 56 ปี วันคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมการเกษตร และกล่าวชื่นชมถึงความทุ่มเท เสียสละของเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรในการปฏิบัติงาน เพื่อส่งเสริม พัฒนาอาชีพ ช่วยเหลือ ดูแล และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรทั่วประเทศมาอย่างยาวนาน ถึง 56 ปี พร้อมกล่าวถึงการดำเนินงานตามนโยบายของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แก่เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรว่า การขับเคลื่อนงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้ง 2 ส่วน คือ 1) ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตรไปสู่การปฏิบัติ ให้เกิดผลสำเร็จ และ 2) ขับเคลื่อนงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผนวกกับภารกิจของกรมส่งเสริมการเกษตร ผ่านการนำเสนอในนิทรรศการนั้น มีความสอดคล้องกับนโยบายเป็นอย่างมาก จึงเชื่อมั่นว่ากรมส่งเสริมการเกษตร จะสามารถขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดผลสำเร็จ และเกิดประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกรได้อย่างแน่นอน
นางอัญชลี สุวจิตตานนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 56 ปี กรมส่งเสริมการเกษตรยึดเกษตรกรเป็นศูนย์กลางการพัฒนา มุ่งมั่นในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งในโอกาสก้าวต่อไปที่จะขึ้นสู่ปีที่ 57 กรมส่งเสริมการเกษตร จะยังคงดำเนินภารกิจอย่างเข้มข้น โดยตั้งเป้าให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สามารถเติบโต เข้าถึงปัจจัยการผลิต และตลาดสินค้าเกษตร ด้วยการใช้งานวิจัย ข้อมูล องค์ความรู้ เทคโนโลยีดิจิทัลร่วมบูรณาการ พัฒนาองค์กร ให้เกิดความเหมาะสมทั้งในด้าน คน สินค้า และพื้นที่ ก่อเกิดความสุขในด้านรายได้ สร้างความสุขในฐานะผู้ผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพดีสู่ตลาด และพัฒนาไปเป็นผู้ประกอบการเกษตรที่มั่นคงและเติบโตไปพร้อมกัน
โดยนำเสนอผ่านนิทรรศการ 5 ภารกิจส่งเสริมการเกษตร ภายใต้การขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย นิทรรศการที่ 1: 80 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มุ่งเป้า 100 วัน 7 Flagship Projects ดำเนินการขับเคลื่อนและขยายผลการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริสู่ชุมชน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มุ่งสู่ความมั่นคงทางอาหาร สร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง เกษตรกรมีสุขภาพโภชนาการทางอาหารที่ดี
นิทรรศการที่ 2 การขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรกรและองค์กรเกษตรกรสู่ผู้ประกอบการด้านการเกษตร ด้วยกระบวนการ และความเข้มแข็งของเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ผนวกเข้ากับเกษตรกรเครือข่ายกลุ่มต่าง ๆ กรมส่งเสริมการเกษตรจะยกระดับการส่งเสริมและพัฒนาให้เกษตรกร ก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตร และผู้ให้บริการทางการเกษตรแบบครบวงจร ด้วยแผนการพัฒนาหลัก 3 ด้าน คือ 1) ด้านการผลิต/แปรรูป/บริการ โดยพัฒนาให้เกษตรกรและองค์กรเกษตรกรวิเคราะห์ศักยภาพของตนเอง ปรับแนวคิดในการทำงานจากผลิตเพียงอย่างเดียวเป็นการผลิตเชิงธุรกิจที่สามารถบริหารจัดการการผลิตและการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2) ด้านการตลาด โดยการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจการค้า ระบบโลจิสติกส์ ระบบออนไลน์ และการจับคู่ธุรกิจเพื่อการค้าขายที่แน่นอน มั่นคง3) ด้านแหล่งทุน โดยส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อการต่อยอดธุรกิจ รวมถึงส่งเสริมความรู้ในการบริหารจัดการทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
นิทรรศการที่ 3: 1 อำเภอ 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบาย 1 อำเภอ 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ให้บรรลุตามเป้าหมาย 882 อำเภอ ภายในปี 2570 ด้วยกระบวนการพัฒนาสินค้า 4 ขั้นตอน “เกษตรกรมีฐานะมั่นคง GDP Agri Growth 5%” ดังนี้ 1) เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยการนำนวัตกรรม งานวิจัย มาพัฒนาและประยุกต์ใช้ ก่อเกิดผลผลิตผลตอบแทนสูงขึ้น 2) สร้างมาตรฐานสินค้า 3) แปรรูปมูลค่าสินค้าเกษตร 4) เชื่อมโยงการตลาด มุ่งสู่ตลาดเฉพาะเจาะจง
นิทรรศการที่ 4 GO Green สู่ความยั่งยืนด้วย BCG ขับเคลื่อนนโยบาย “ทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Go Green) ด้วย BCG / Carbon Credit” โดยส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรในการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และนำไปสู่การขาย Carbon Credit ในอนาคต
นิทรรศการที่ 5 ศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช จุดให้บริการทางการเกษตรแบบครบวงจร ภายใต้นโยบาย “ศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช” ดำเนินงานในระดับอำเภอผ่านสำนักงานเกษตรอำเภอที่เป็น Smart Office ในการบริการเกษตรกร ซึ่งมีเจ้าหน้าที่คอยรับเรื่องและบันทึกข้อมูลการขอรับบริการลงระบบสารสนเทศ มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เป็นการบูรณาการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อบริการประชาชนแบบ One Stop Service
นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงผลสำเร็จของกรมส่งเสริมการเกษตรในปีที่ผ่านมา ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้รับรางวัลเลิศรัฐ ปี 2566 ด้วยผลการดำเนินการเป็นเลิศ 25 รางวัล ประกอบด้วยรางวัลระดับดีเด่น 9 รางวัล และรางวัลระดับดี 16 รางวัล ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือร่วมใจ ของทุกหน่วยงานในสังกัดของกรมส่งเสริมการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานในพื้นที่ ที่ดำเนินการตามระบบส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานด้านการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ