กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่กลุ่มสารวัตรเกษตร สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร นำโดยนายธรรมรัตน์ ทองมี ผู้อำนวยการกลุ่มสารวัตรเกษตร พนักงานเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร กรมวิชาการเกษตร
นำกำลังเข้าตรวจโกดังเก็บปุ๋ยเคมี หลังจากได้รับแจ้งจากสายลับว่ามีปุ๋ยปลอมขายตามร้านค้าเกษตรกรทางภาคตะวันออก ทางภาคใต้ และโฆษณาขายตามเฟซบุ๊ก เจ้าหน้าที่จึงได้สืบสวนหาข่าว จนพบแหล่งที่ต้องสงสัยผลิตปุ๋ยปลอม ที่บริษัทฟลอราเทค จำกัด เลขที่ 32 โกดังหมายเลข 10 ม.12 ถนน บางปะอิน-บางไทร ต.บางกระสั้น อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา
ซึ่งพบว่า ลักลอบจำหน่าย ผลิต ปุ๋ยเคมี ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ. 2518 และแก้ไขเพิ่มเติม โดยนายหนึ่ง (ชื่อนามสมมุติ) แสดงตัวเป็นผู้จัดการบริษัทฯ นำเจ้าหน้าที่ตรวจค้น ผลการตรวจค้นพบปุ๋ยปลอม ดังนี้
1. ผลิตภัณฑ์ ปุ๋ยเคมี เอ็น พี ซี 16-16-16 ตรา ม้ายูนิคอร์น ข้างกระสอบมีเลขทะเบียนปุ๋ยเคมีเลขที่ 1305/2563 กระสอบสี ขาว-เขียว น้ำหนักสุทธิ 50 กิโลกรัม ต้องสงสัยว่าเป็นปุ๋ยปลอม ตาม พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ.2518 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 2,502 กระสอบ ปริมาณ 125,100 กก.
2. ผลิตภัณฑ์ ปุ๋ยเคมี เอ็น พี ซี 12-12-17 ตรา ม้ายูนิคอร์น ข้างกระสอบมีเลขทะเบียนปุ๋ยเคมีเลขที่ 2733/2563 กระสอบสี ขาว-ส้ม น้ำหนักสุทธิ 50 กิโลกรัม ต้องสงสัยว่าเป็นปุ๋ยปลอม ตาม พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ.2518 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 1,319 กระสอบ ปริมาณ 65,950 กก.
3.ผลิตภัณฑ์ ปุ๋ยเคมี เอ็น พี ซี 8-24-24 ตรา ม้ายูนิคอร์น ข้างกระสอบมีเลขทะเบียนปุ๋ยเคมีเลขที่ 763/2563 กระสอบสี ขาว-แดง น้ำหนักสุทธิ 50 กิโลกรัม ต้องสงสัยว่าเป็นปุ๋ยปลอม ตาม พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ.2518 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 3,478 กระสอบ ปริมาณ 173,950 กก.
4.ผลิตภัณฑ์ที่ใช้บรรจุปุ๋ย กระสอบเปล่า จำนวน 5,010 กระสอบ
รวมมูลค่าความเสียหาย 10 ล้านบาท
พนักงานเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ตรวจพบเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ที่ กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เพื่อจะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และฝ่าฝืนกฎหมาย ในฐานความผิด
“ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต เพื่อการค้า ขาย หรือนำเข้าปุ๋ย ปลอม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสองหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท” ตาม พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ.2518 มาตรา 30(1),64 เจ้าพนักงานชุดดังกล่าว จะได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปคบ. เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิด และผู้กระทำผิดอื่นที่สอบสวนถึง จนกว่าคดีจะถึงที่สุดตามกฎหมายต่อไป
เจ้าหน้าที่ ระบุด้วยว่า ปัจจุบันปุ๋ยมีราคาแพง และเกษตรกรชาวไร่ชาวสวนก็ต้องการปุ๋ยเพื่อใช้ในการทำสวน ทำไร่ และต้องได้รับปุ๋ยที่มีคุณภาพ ดังนั้นจึงอยากให้เกษตรกรชื้อปุ๋ยที่มีคุณภาพ และมีมาตรฐาน โดยการสังเกตดูเลขทะเบียนที่ติดอยู่กับกระสอบปุ๋ยว่าถูกต้องตามที่กรมวิชาการเกษตรออกให้หรือไม่ เพื่อเกษตรกรจะได้ปุ๋ยที่มีคุณภาพ
หากเกษตรพบเห็นปุ๋ยปลอม สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วนคุ้มครองผู้บริโภค 1135