นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ผลผลิตทางการเกษตรของประเทศไทยมีศักยภาพการแข่งขันในตลาดต่างประเทศหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือ การผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออก โดยเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปี มีชนิดพันธุ์ที่หลากหลาย รสชาติหอมหวานเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค แต่ในช่วงระหว่างปี 2561 – 2566 ได้มีการพบด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วงในมะม่วงที่ส่งออกไปยังสาธารณรัฐเกาหลี ทั้งสิ้น 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ลำพูน ฉะเชิงเทรา พิษณุโลก พิจิตร และจังหวัดกำแพงเพชร ผลผลิตมะม่วงถูกสั่งทำลายทิ้ง ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับผู้ประกอบการส่งออกเป็นอย่างมาก และส่งผลกระทบกับเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงของประเทศไทยโดยตรง เนื่องจากสาธารณรัฐเกาหลีได้มีการระงับการนำเข้ามะม่วงจากแปลงปลูกมะม่วงดังกล่าวหลังตรวจพบด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วงเป็นระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่ตรวจพบ ซึ่งเกษตรกรต้องมีการจัดการศัตรูพืชและผ่านการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สินค้าเกษตรต้องปราศจากสารเคมีตกค้าง และต้องมีการจัดการศัตรูพืชกักกันหลังการเก็บเกี่ยวตามที่ประเทศคู่ค้ากําหนดจึงจะสามารถส่งออกมะม่วงได้ใหม่อีกครั้ง
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า กาฬสินธุ์เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ตรวจพบด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วงในมะม่วงอบไอน้ำเพื่อการส่งออกตั้งแต่ปี 2565 – 2566 จํานวน 14.47 ตัน กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์สร้างการรับรู้แก่เกษตรกร “มะม่วงไทย ไร้ด้วงงวงฯ” โครงการรณรงค์เพื่อควบคุมและป้องกันกำจัดด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วงขึ้น ณ แปลงใหญ่ผู้ปลูกและแปรรูปมะม่วงมหาชนกตำบลหนองหิน หมู่ที่ 2 ต.หนองหิน อำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรรับรู้เรื่องด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วง และแนวทางการป้องกันกำจัดที่ถูกต้องเหมาะสมให้เกษตรกรเกิดความตระหนักในการติดตาม เฝ้าระวัง และป้องกันการระบาดของด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วงในแปลงปลูกของตนเองอย่างสม่ำเสมอ และส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงมีการจัดการแปลงปลูกที่ดี มีการป้องกันกำจัดด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วงด้วยวิธีผสมผสาน และใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องและปลอดภัย
ด้านนายสันติภาพ โทนหงส์สา เกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า จังหวัดกาฬสินธุ์มีพื้นที่ปลูกมะม่วง จำนวน 11,200 ไร่ โดดเด่นในด้านสายพันธุ์ที่หลากหลาย อาทิ มะม่วงมหาชนก, น้ำดอกไม้สีทอง, น้ำดอกไม้เบอร์ 4, แก้วขมิ้น, แก้ว, เขียวเสวย, โชคอนันต์, ฟ้าลั่น, อกร่อง และอื่น ๆ ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงในจังหวัดกาฬสินธุ์จะได้เรียนรู้เรื่องการป้องกันและกำจัดด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วงอย่างถูกวิธี และถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้บูรณาการร่วมกับกรมวิชาการเกษตร และภาคเอกชน ในการให้ความรู้การป้องกัน และกำจัดด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วง เพื่อให้เกษตรกรนำความรู้ที่ได้นั้นไปใช้ป้องกันความเสียหายจากด้วงงวงเจาะเมล็ดมะม่วง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของมะม่วงไทยในตลาดต่างประเทศต่อไป